Economics

‘ดร.สุวิทย์’ ชี้ BCG เครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อน ‘เศรษฐกิจยั่งยืน’ เหตุคำนึงสิ่งแวดล้อม-เปลี่ยนแข่งขันสู่การค้าสร้างสรรค์

ดร.สุวิทย์ชี้ BCG เครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยั่งยืน เหตุคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนการแข่งขัน สู่การสร้างสรรค์ทางการค้า

ในการอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 14 (Leadership for Change-LFC#14) ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสัมมาชีพ มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย มาถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อสร้าง “กรอบความคิด” ที่ถูกต้อง และทันยุค เพื่อนำไปปรับใช้ และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้น

เศรษฐกิจยั่งยืน

กรอบความคิดที่ใช่ และแนวทางปฏิบัติที่ใช่ ตามความเห็นของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ คือ BCG Economy Model

ดร.สุวิทย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Thailand in the New Global Landscape: BCG as Thailand New Growth Engine” ว่า กรอบความคิดเดิมในการพัฒนาเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยมายาวนาน ไม่สามารถตอบโจทย์ “ความอยู่รอด” ในยุคสมัยปัจจุบัน และอนาคตได้อีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อถูกวิกฤติสิ่งแวดล้อมไล่ล่า จนเกิดความไม่สมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งเป็น “รากฐานของปัญหา” ที่นำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจ ปัญหาสิ่งแวดล้อม

“ต้องทำความเข้าใจว่า กรอบความคิดของโลกเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่สามารถอยู่แบบเดิมได้” 

ที่ผ่านมาเศรษฐกิจเติบโตจากความโลภ (Greed to Growth-Growth to Greed) ยิ่งโลภ ยิ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการแข่งขันกันใช้ทรัพยากรมหาศาล จนเกิดการตีกลับของผลกระทบ อย่างที่โลกเผชิญวิกฤติโลกเดือด Global Warming ในปัจจุบัน และจะรุนแรงขึ้นในอนาคต

ดังนั้น จะทำอย่างไรจึงจะอยู่รอด จึงนำมาสู่การเปลี่ยนกรอบความคิด สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยความยั่งยืน ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals-SDGs) และสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) ของในหลวง ร.9

ในมุมมองของ ดร.สุวิทย์ ซึ่งเป็นนักคิด นักการตลาดเชิงกลยุทธ์ การถอดรหัสกรอบความคิดดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ (In Action) “BCG Economy Model” คือคำตอบ

สำหรับเขาแล้ว BCG Economy Model หรือ โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG (Bio- Circular -Green Economy) ที่ว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจบนความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว จะเป็น “เครื่องยนต์ใหม่” (New Engine) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย รวมไปถึงเศรษฐกิจโลก สู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

เศรษฐกิจยั่งยืน

เพราะเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่คำถึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันยังเป็นการ “เปลี่ยนมุมมอง” ของการแข่งขันแบบเดิม ไปสู่ การสร้างสรรค์ทางการค้า (Trade Creation) เป็น People Power ไม่ใช่ Market Power บนหลักคิดของการนำความหลากหลายของแต่ละประเทศ ซึ่งมีไม่เหมือนกัน มาเป็นจุดแข็ง เสริมความแกร่ง สร้างความร่วมมือ และผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ

“ประเทศไทยต้องหันกลับมามองจุดแข็งของตัวเอง แทนที่จะไปแข่งขันกับคนอื่น เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งมีจุดแข็งไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องแข่งขันกัน แต่เป็นเรื่องที่นำมาเสริมกัน มาร่วมมือกัน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่เป็นปลาใหญ่กินปลาเล็ก เพื่อทำให้โลกในอนาคตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีประโยชน์สุข ปกติสุข และสันติสุข มีสัมมาทิฎฐิ” 

ดร.สุวิทย์ บอกด้วยว่า ในมุมมองการนำความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมไทยมาใช้ ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยังสอดคล้องกับหลักคิด “การสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่” ซึ่งเป็นปณิธานของมูลนิธิสัมมาชีพ เพราะแต่ละท้องถิ่นของไทย ล้วนมีความหลากหลายที่แตกต่างกัน กลายเป็นชุดของ “โอกาส” และ “ศักยภาพ” ที่แตกต่างกัน เป็นเสน่ห์ของแต่ละท้องถิ่น

หากผลักดันความเข้มแข็งนี้ให้ขยายวงกว้างออกไป จะเผยให้เห็นพลังมหาศาลที่ซ่อนตัวอยู่ในท้องถิ่น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจากฐานรากของพิรามิดซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เกิด “GDP ในเชิงคุณภาพ” ซึ่งยั่งยืนที่สุด

นอกจาก BCG Economy Model จะสามารถแก้โจทย์ ใน “มิติเศรษฐกิจ” และ “มิติสิ่งแวดล้อม” แล้ว  2 มิตินี้ย่อมมีส่วนผลักดัน “มิติทางสังคม” ทำให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น มีความสุขในการใช้ชีวิต ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นตามมา

โดยเฉพาะใน “มิติการเมือง” เมื่อคนในระดับท้องถิ่นเกิดการมีส่วนร่วม จะทำให้เกิดการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีที่ตัวเองมี กลับมาพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง ทำให้แรงงานคืนถิ่น เศรษฐกิจเกิดการกระจายตัว

มิติทางการเมืองจึงหมายถึง การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ แทนการกระจุกตัวอยู่กับรายใหญ่ ลงมาสู่รายย่อย สู่วิสาหกิจชุมชน เมื่อคนกินดีอยู่ดี มี “สัมมาชีพ” ก็จะเกิดประชาธิปไตยเชิงเศรษฐกิจที่มาจาก BCG ซึ่งในที่สุดก็เติบโตคู่ขนาน กับระบบประชาธิปไตยเชิงการเมือง

ทั้งหมดนี้คือ การให้ภาพใหญ่ในการขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจประเทศ ด้วยเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ BCG ซึ่งได้ผลลัพธ์ตอบโจทย์ใน 4 มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม การเมือง

เมื่อผู้อบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง มองเห็นภาพใหญ่จะเกิดการเชื่อมโยงว่า ในวิกฤติ (ความไม่สมดุล) ย่อมมีโอกาส (ความสมดุล) เสมอ

เศรษฐกิจยั่งยืน

ผู้นำที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเท่านั้น แต่คือการเปลี่ยนหัวใจมนุษย์จากตัวตนเป็นความร่วมมือ เก่งคนเดียวไม่ได้ จะวิ่งได้นานต้องวิ่งไปด้วยกัน

สำหรับความร่วมมือในเรื่องของ BCG นั้น ดร.สุวิทย์ ทิ้งท้ายว่า ที่สุดแล้วคือ การสร้างความสมดุล พอดี ลงตัว ที่ผ่านมา สิ่งที่ไม่สมดุลคือมนุษย์ มนุษย์ไม่สมดุลกับธรรมชาติ มนุษย์ไม่สมดุลกับมนุษย์ และตอนที่น่ากลัวขณะนี้คือ มนุษย์เริ่มไม่สมดุลกับเทคโนโลยี

ความไม่สมดุลนี้เป็นปัญหาที่รอให้ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง เข้าไปช่วยกันทำให้เกิดความสมดุล เมื่อมีความสมดุล พอดี ลงตัว เมื่อนั้นจึงจะยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo