Economics

นายกฯ หารือ ภูฏาน หนุนเจรจา FTA สำเร็จภายในปี 2025 ตั้งเป้าการค้า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายกฯ เศรษฐา หารือ ภูฏาน ผลักดันเจรจา FTA สำเร็จภายในปี 2025 ตั้งเป้ามูลค่าการค้า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมส่งเสริมการค้า-การลงทุนทุกมิติ

วันที่ 26 มิถุนายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับ ดาโช เชริง โตบเกย์ (H.E. Dasho Tshering Tobgay) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏาน ผลักดันความร่วมมือหลากหลายมิติ พร้อมส่งเสริมการค้าการลงทุน – ศักยภาพทางการเกษตร – การศึกษา – เชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างกัน

นายกฯ

ผลักดันการเจรจา FTA ให้สำเร็จภายในปี 2025

โดยนางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีภูฏาน กล่าวว่า การเยือนครั้งนี้ถือเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตของไทย – ภูฏาน ชื่นชมไทยที่ถือเป็นประเทศผู้นำของอาเซียนและภูมิภาค โดยทั้งสองประเทศต่างมีความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างใกล้ชิด รวมถึงการช่วยเหลือสนับสนุน

สำหรับการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือผ่านความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมยังนำตัวอย่างของการพัฒนาประเทศไทย ปรับใช้ที่ภูฏานเพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มั่นคงยิ่งขึ้น โดยภูฏานพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยให้มากขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีกับการประกาศเริ่มเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยนายกฯ เศรษฐาเชื่อมั่นว่าจะช่วยสร้างโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น ตั้งเป้าหมายมูลค่าการค้าที่ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเห็นพ้องที่จะผลักดันการสรุปผลเจรจา FTA ภายในปี 2025

ขณะที่นายกรัฐมนตรีภูฏานกล่าวว่า ไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของภูฏาน จึงเห็นถึงโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยสามารถร่วมมือจัดตั้งธุรกิจผ่าน FDI และกิจการร่วมค้าในภูฏาน และขยายช่องทางการค้าไปยังอินเดียได้

นายกรัฐมนตรีภูฏานนำเสนอถึงศักยภาพของโครงการเมืองอัจฉริยะ Gelephu Mindfulness City (GMC) ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งภูฏาน ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของภูฏาน ติดกับประเทศอินเดีย โดยมีแผนการก่อสร้างโครงการใหญ่ อาทิ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศแห่งใหม่ เส้นทางคมนาคม และจะเป็นเมืองอัจฉริยะแห่งแรกของภูฏาน

นายกฯ

พร้อมร่วมมือด้านการท่องเที่ยว การเกษตร และพลังงานสะอาด

โดยไทยพร้อมที่จะสำรวจโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนสำหรับภาคเอกชนไทยที่สนใจ โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การค้าปลีก การดูแลสุขภาพ และเทคโนโลยีการเกษตร โดยปัจจุบันมีบริษัทไทยบางส่วนเข้าร่วมลงทุนในโครงการ GMC แล้ว และยังให้ความสนใจที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองแบบองค์รวม (Urban development) ภายในพื้นที่โครงการ GMC ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะทำให้ภูฏานเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ที่มีเครือข่ายของระบบนิเวศที่ยั่งยืนได้

ด้านการเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตร เห็นพ้องที่ส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์ของภูฏานเข้าสู่ตลาดในไทย โดยไทยยินดีที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีด้านการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การเกษตรอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มมูลค่าและยกระดับผลผลิตทางการเกษตรให้แก่ภูฏาน

นายกรัฐมนตรีภูฏานได้กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Gewog One Product – OGOP) ของภูฏาน ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากผลิตภัณฑ์ OTOP ของไทย ขณะที่นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ผลิตภัณฑ์ OGOP จะช่วยสร้างโอกาสให้กับชุมชนท้องถิ่นเช่นเดียวกับไทย และยินดีช่วยนำเสนอผลิตภัณฑ์ OGOP ในตลาดไทยมากขึ้น

นายกฯ

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังพร้อมสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ และการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-based Tourism : CBT)

รวมถึงด้านพลังงานสะอาด นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงนโยบายสำคัญของรัฐบาล คือ การมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 ซึ่งภูฏานมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและส่งออกพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนายกรัฐมนตรีภูฏานยินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo