Economics

รถเมล์จะเปลี่ยนไป !! หลังขสมก.ปฏิวัติใหญ่

การเป็น พนักงานขับรถ (พขร.)  และ พนักงานเก็บค่าโดยสาร (พกส.) หรือกระเป๋ารถเมล์ของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ไม่ใช่อาชีพ ” เบๆ” อย่างที่หลายคนคิด อาชีพนี้กำลังเป็นที่ถวิลหาของเด็กจบใหม่ และคนวัยทำงานจำนวนมาก

“แต่ละปีขสมก.มีผู้เกษียณอายุราว 600 คน จากพนักงานทั้งหมดที่มีอยู่ปัจจุบัน 13,067 คน (ณ 7 พ.ย.61)  รับมาทดแทนกันประกอบกับเรากำลังมีรถเมล์ใหม่ทะยอยมาอีก 3,000 คัน ก็ต้องมี พขร.และพกส.รองรับราว 6,300 คน จากปัจจุบัน ขสมก.มีรถ 2,700 คัน พนักงาน 5,400 คน “ประยูร ช่วยแก้ว รักษาการ ผู้อำนวย การขสมก. ระบุ

.ประยูร ขสมก. e1544431891540
ประยูร ช่วยแก้ว

เมื่อเปิดรับสมัครพนักงานคราใด ก็จะมีแต่คนจบปวส. ปวช. ไม่ก็ปริญญาตรี หรือ ปริญญาโทมาสมัครจำนวนไม่น้อย แม้จะรับวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 เท่านั้น เหตุผล เพราะขสมก.เป็นรัฐวิสาหกิจ ตอบโจทย์ความมั่นคงด้านอาชีพ ขณะเดียวกัน มีโครงการอบรมหลักสูตรต่างๆ รวมถึงภาษาอังกฤษให้เป็นระยะๆ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนไทยอย่างอุ่นหนาฝาครั่ง

ประยูร บอกว่า ตอนนี้มีทั้งเด็กรุ่นใหม่ที่จบเศรษฐศาสตร์บ้าง กฎหมายก็มี ทั้งปริญญาตรี และปริญญาโท มาสมัครงานกับเรา เหตุผลเพราะการจ้างงานในภาพรวมลดลง ตำแหน่งงานก็มีน้อยลง โดยเฉพาะในส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ แต่คนจบมากขึ้น เด็กๆก็อยากทำงานที่มั่นคง ขสมก.เป็นอีกหน่วยงานที่ตอบโจทย์ได้ เป็นรัฐวิสาหกิจที่มั่นคง และมีสิทธิประโยชน์มากกว่าเอกชน รวมถึงสวัสดิการที่ดี  รวมถึงการเลื่อนตำแหน่งที่ไม่ได้ปิดกั้นพนักงาน

สำหรับวุฒิมัธยมปีที่ 3 จะได้รับอัตราเงินเดือนแรกเข้า 10,150 บาทต่อเดือน สำหรับพกส. ประมาณ12,000 บาท สำหรับพขร. บวกค่าเบี้ยเลี้ยงต่างๆ ก็ราว 16,000 บาท สำหรับพกส. และ19,000 บาทต่อเดือนของพขร. หากอยู่มานานหลัก 20 ปี อัตราเงินเดือนปรับขึ้นตามความเก๋า หรือราว 20,000 บาท และ 30,000 บาทต่อเดือนตามลำดับ ไม่นับรวมสวัสดิการต่างๆ อาทิ ค่ารักษาพยาบาลทั้งครอบครัว

“เรามีสวัสดิการที่ดีกว่าหลายๆองค์กร ที่สำคัญมีความก้าวหน้าที่มอบให้พนักงานเสมอกัน หากมีความสามารถ หลายคนไต่เต้าจากพนักงานขับรถเลื่อนไปถึงผู้บริหารระดับสูง เป็นถึงผู้อำนวยการเลยก็มี เพราะองค์กรทราบดีว่าเรื่องการเดินรถ ไม่มีใครจะล่วงรู้ระบบได้เท่าพนักงานที่ทำมานาน เด็กรุ่นใหม่เก่งๆก็อยากมาทำงานกับเรา ” 

แม้พกส.ขับรถไม่เป็น ก็มีโอกาสเป็นพขร.ได้ด้วย โดยขสมก.ฝึกอบรมให้ แถมไม่แบ่งแยกเพศ ประยูร เล่าว่า ตอนนี้เรามีผู้หญิงขับรถเมล์อยู่ถึง 300 คน เพราะผู้หญิงมีความละเอียดอ่อน และใจเย็น ทำให้ขับรถได้ดี แต่ละปีที่เปิดสอบรับพขร.ก็ไม่เคยปิดกั้นว่าต้องเป็นผู้ชาย ถ้าพกส.ของเราต้องการเป็นพขร. แต่อาจขับไม่เป็นไม่คล่อง หากต้องการเติบโตเราก็อบรมให้ด้วย

นอกจากนี้ การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งในขสมก. ยังมาในรูปของการถูกคัดเลือกไปประจำสายเส้นทางพรีเมี่ยม  ที่ต้องการคนที่มีอายุการทำงานระดับหนึ่ง มีความประพฤติ และมารยาทดี รวมถึงต้องผ่านภาษาอังกฤษเบื้องต้น

รถเมล์ S1

อาทิ สาย A 1 , A 2 ,A 3 , A 4 ที่วิ่งรับผู้โดยสารออกจากสนามบินดอนเมืองไปตามเส้นทางในเมือง เช่น จตุจักร ข้าวสาร เป็นต้น หรือ สาย S 1 ที่มีเส้นทางวิ่งจากอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ -ยมราช-ถนนข้าวสาร-สนามหลวง ซึ่งเปิดให้บริการไปเมื่อปี 2560

ประยูร บอกไปถึงการทำหน้าที่ด่านหน้ารับนักท่องเที่ยวว่า ปีนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 30 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มเป็น 37 ล้านคน และท่องเที่ยวแบบมาเองไม่พึ่งทัวร์ก็มาแรงมากขึ้น  ซึ่งรถเมล์ถูกเลือกให้เป็นวิธีเดินทางหลักของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ เพราะไปถึงแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องการได้มากกว่าด้วยราคาแสนถูก

ขสมก.จึงจะเปิดให้บริการ 3 เส้นทางเร็วๆนี้ วิ่งผ่านจุดท่องเที่ยวสุดฮอตของนักท่องเที่ยวทั้งหลาย ได้แก่

  1. เส้นทาง วงกลม สนามหลวง – เยาวราช – ศูนย์การค้าสยาม
  2. เส้นทาง วงกลม อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – ศูนย์การค้าสยาม
  3. เส้นทาง วงกลม ท่าน้ำสี่พระยา – ศูนย์การค้าสยาม

คาดว่าอีกไม่นานจะมีรถกว่า 30 คันวิ่งรองรับ 3 เส้นทางนี้ ประยูร บอกว่าจะเป็นรถเมล์ใหม่แบบพรีเมี่ยม วิ่งราคาเที่ยวละ 30 บาทขึ้นลงตรงไหนได้ตามใจ หรือจะเหมาตลอดวันในราคา 70 บาท หากได้รับความนิยม ขสมก.จะเพิ่มจำนวนรถบริการและเส้นทางได้อีก

ขสมก.9

และแน่นอนว่า “ภาษาอังกฤษ” ของพขร.และพขส.เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจนอกจากจำนวนรถแล้ว โดย ขสมก.มีโปรแกรมฝึกอบรมภาษาอังกฤษให้เข้มข้นขึ้น จากปี 2557-2561 อบรมเป็นรุ่นๆไปแล้วกว่า 2,500 คน

เน้นหลักสูตร “การสนทนาภาษาอังกฤษในงานบริการ” และยังอัพเดทบทสนทนาภาษาอังกฤษ ให้พนักงานได้ฝึกฝนไม่ลืมไปเสียก่อน ผ่านมีคอลัมน์  ” ENGLISH ON BUS ” ใน “วารสารล้อหมุน” ที่แจกจ่ายไปให้กับพนักงานประจำเขตทุกเดือนอีกด้วย  รวมไปถึงหลักสูตรอื่นๆ เช่นอบรมเรื่องการให้บริการ เป็นต้น  และแต่ละปีมีการอบรมหลักสูตรต่างๆให้พนักงานกว่า 20-30 หลักสูตร

“นอกจากเส้นทางใหม่ที่รับนักท่องเที่ยวจากสนามบิน ยังจะเพิ่มเส้นทางผ่านสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญด้วย ซึ่งสายเหล่านี้ถือเป็นหน้าตาประเทศ เพราะมีผู้โดยสารเป็นชาวต่างชาติเยอะ ก็ต้องเลือกคนที่มีความประพฤติดีมาทำงาน ถ้าไม่ได้ภาษาอังกฤษ เราก็อบรมให้ อาจไม่เก่ง แต่ให้สามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติพอเข้าใจ เพื่อสร้างความประทับใจ “

และเพื่อบริการนักท่องเที่ยว ขสมก.กำลังให้เอกชนพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อให้ผู้โดยสารทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวโหลดติดตามดูรถเมล์เข้าออกป้าย โดยจะเชื่อมต่อกับรถโดยสารทั้งหมดทั้งของขสมก และของเอกชน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในต้นปี 2562

ขสมก 21

“ตอนนี้ มีแอพ ViaBus (เวียบัส) สำหรับติดตาม และนำทางรถเมล์ภายในกรุงเทพ และปริมณฑล แต่ยอมรับว่าอาจยังไม่เวิร์ก เพราะมีแต่รถเมล์ขสมก. ต้องดึงรถร่วมเข้ามาให้หมด ขณะเดียวกันต้องพัฒนาป้ายให้เป็นป้ายรถเมล์อัจฉริยะควบคู่กัน ซึ่งจะต้องค่อยๆทำกันต่อไป ”

แบบนี้ต้องเรียกว่า“ปฏิวัติรถเมล์ไทยเข้าสู่ยุค 4.0″  ประยูร เล่าว่า อนาคตรถเมล์ต้องปรับใหญ่ทั้งหมด ต้องเคลียร์เส้นทางใหม่ เพื่อให้เป็นฟีดเดอร์ ( Feeder ) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าทั้ง 10 สายที่จะเกิดขึ้นใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อนำผู้โดยสารไปยังที่หมา

“เมื่อเรามีระบบขนส่งมวลชนทางรางเป็นเครือข่ายใยแมงมุม มีเส้นทางเดินเรือเพิ่มอีก รถเมล์ต้องปรับให้วิ่งสั้นลง และเป็นฟีดเดอร์ คือ ไปเชื่อมโยงกับระบบรางและเรือให้ลงตัว  เพื่อส่งผู้โดยสารไปให้ถึงจุดหมายใกล้ที่สุด เพราะรถเมล์เข้าถึงได้มากกว่า 

รถเมล์ทุกเพศวัย 1

แนวทางที่อยู่ในแผนขสมก.ยังรวมถึงการปรับจำนวนรถเมล์ให้เหมาะสมกับบริบทด้วย เพราะบางสาย เช่น พหลโยธิน หรือสามเสน มีรถเมล์ผ่านถึง 20-30 สาย ขณะที่บางถนนไม่มีรถเมล์ผ่าน โดยเฉพาะถนนตัดใหม่ต่างๆ ก็ต้องปรับเส้นทางกันใหม่

รวมถึงต้องจัดเส้นทางให้รถเมล์ผ่านจุดท่องเที่ยวให้มากที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว และรถเมล์ทุกคันในอนาคตต้องรองรับคนทุกเพศทุกวัย รวมถึงผู้พิการได้ ( Low-floor buses )

ส่วนตั๋วก็ต้องเป็นตั๋วโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตอนนี้เริ่มติดตั้งเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E – Ticket)แล้ว รองรับทั้งผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และตั๋วโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ที่จะมีมากขึ้นในอนาคต  ” จำนวนพกส.อาจลดลง แต่เราไม่เลิกจ้างแน่นอน จะย้ายไปทำงานอื่นแทน “ เขา ย้ำให้พนักงานสบายใจ

จีพีเอส รถเมล

ส่วนเรื่องความปลอดภัยนั้น ประยูร บอกว่า ปัจจุบันมีการติดตั้ง GPS ในรถเมล์ทุกคัน รวมถึงติดกล้องวงจรปิดในรถเมล์ทุกคัน คันละ 4 ตัวหน้าหลัง พร้อมกับการมอนิเตอร์แบบเรียลไทม์ในห้องควบคุม ลดปัญหาอาชญากรรมบนรถเมล์ไปได้หลายเท่าตัว และกล้องของรถเมล์ยังช่วยภารกิจของหน่วยงานต่างๆด้วย เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

รถเมล์ใหม่ จำนวนรถเพิ่มแถมติดอุปกรณ์ช่วยดูแลความปลอดภัย แล้วคุณภาพพนักงานล่ะ ประยูร ย้ำว่า การที่มีคนต้องการมาอยู่กับ ขสมก.จำนวนมาก การศึกษาก็สูง เราก็มีโอกาสเลือกคนเก่งคนดี ปัจจุบันเรามีพขร.จบปริญญาตรี 84 คน ปริญญาโท 1 คน ส่วนพกส.จบปริญญาตรี 248 คน ปริญญาโท 1 คน

บวกกับกำชับให้แต่ละเขตการเดินรถดูแลกันอย่างใกล้ชิด มีการอบรมวินัยและมารยาทกันตลอดปี  และมีช่องทางร้องเรียน มีระบบการสอบสวนทางวินัยเมื่อมีความผิด  ขสมก.จึงได้รับการร้องเรียนน้อยลงมากในระยะวิ่ง 1 ล้านกิโลเมตรไม่เกิน 2 ครั้ง ส่วนอุบัติเหตุ 1 ล้านกิโลเมตรไม่ถึง 8 ครั้งตามมาตรฐาน ประยูร ท้าว่า การบริการของเราดีกว่ารถร่วมฯแน่นอน

ต่อไปเราคงได้เห็นรถเมล์ไทยได้รับการยกระดับมาตรฐานทั้งกายภาพ และงานบริการ นำพาผู้โดยสารไปถึงจุดหมายได้อย่างสะดวกปลอดภัย เป็นที่ประทับใจทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่รู้ลืม

Avatar photo