Economics

อนุมัติกรอบงบ ปี 67 วงเงิน 1.46 แสนล้าน ‘พัฒนานวัตกรรม-ระบบอุดมศึกษา’

ครม. อนุมัติกรอบงบ ปี 67 วงเงิน 1.46 แสนล้าน พัฒนานวัตกรรม ระบบอุดมศึกษา ปั้นบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566  ได้อนุมัติกรอบวงเงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รวมทั้งสิ้น 146,070.40 ล้านบาท เพื่อการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของไทย

โดยแบ่งเป็น กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จำนวน 114,970.40 ล้านบาท  และกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ จำนวน 31,100 ล้านบาท โดยใช้ระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ ตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติเสนอ

พัฒนานวัตกรรม

ตอบโจทย์ความเร่งด่วนของประเทศ

กรอบวงเงินที่จัดทำขึ้นนี้ มีวัตถุประสงค์ตอบโจทย์สำคัญและความเร่งด่วนของประเทศ โดยมุ่งตอบสนองการขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เศรษฐกิจฐานรากเพื่อขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต เศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับทุนทางวัฒนธรรม การผลิต และพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล

พัฒนานวัตกรรม

โดยมีรายละเอียดแต่ละกรอบวงเงิน ดังนี้

  1. กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 114,970.40 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสนับสนุนงบประมาณแก่สถาบันอุดมศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง อว. จำนวน 155 แห่ง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการอุดมศึกษาและการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ด้านการอุดมศึกษา อาทิ

  • จัดการศึกษาสำหรับนักศึกษาระดับปริญญา จำนวน 1,345,086 คน โดยเป็นสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต การบินและโลจิสติกส์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อาหารแห่งอนาคต เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีภาพ จำนวน 415,525 คน คิดเป็น 30% ของจำนวนนักศึกษารวมปีการศึกษา 2566
  • พัฒนากำลังคนในหลักสูตร Non-Degree (Re-Skills, Up-Skills, New Skills) จำนวนไม่น้อยกว่า 25,000 คน
  • พัฒนากำลังคนตลอดช่วงชีวิต (Non–age group) จำนวนไม่น้อยกว่า 275,000 คน
  • เปิดโอกาสให้ผู้เรียนกลุ่มอายุ 25 ปีขึ้นไป เข้าศึกษาในระบบอุดมศึกษา จำนวนไม่น้อยกว่า 275,000 คน
  • โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ซึ่งเป็นโครงการเพื่อปฏิรูประบบการศึกษา 5 ด้าน ได้แก่ พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน พัฒนาบุคลากร สร้างความเป็นนานาชาติ ส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม และสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือ โดยมีผลลัพธ์จากโครงการ เช่น สร้างบัณฑิตทักษะสูงตอบโจทย์อุตสาหกรรมประเทศ 15,000 คน ผู้ประกอบการผ่านการสร้างศักยภาพธุรกิจนวัตกรรม 3,000 ราย พัฒนาหลักสูตรใหม่ในสาขาวิชาเทคนิคระดับสูงที่ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ 30 หลักสูตร ยกระดับขีดความสามารถคณาจารย์และนักวิจัย 1,500 คน และสร้างความร่วมมือกับสถาบันพันธมิตรระดับชาติ 30 แห่ง

พัฒนานวัตกรรม

  1. กรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 31,100 ล้านบาท  ซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศ รวมถึงผลักดันและส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น โดยจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์ของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2566 – 2570 ดังนี้

1.การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม จำนวน 10,885 ล้านบาท (35%)

2.การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม จำนวน 9,330 ล้านบาท (30%)

3.การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ายุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต จำนวน 4,665 ล้านบาท (15%)

4.การพัฒนากำลังคน สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัย ให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 6,220 ล้านบาท (20%)

ผลที่คาดว่าจะได้รับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ด้านวิทยาศาสตร์ฯ อาทิ 1)ไทยมีการให้บริการการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics Medicine) ซึ่งเป็นนวัตกรรมการบริการทางการแพทย์ที่ใช้ข้อมูลพันธุกรรมเฉพาะบุคคลร่วมกับข้อมูลทางสุขภาพอื่นๆ มาใช้ในการวินิจฉัย รักษา และทำนายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้ตรงจุด แม่นยำ และเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายมากขึ้น 2)ไทยมีศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talent) ของอาเซียน และมีศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) ของอาเซียน ที่ได้รับการยอมรับระดับสากลเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 แห่ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo