Economics

‘รศ.หริรักษ์’ ชำแหละข้าว 10 ปี ดึงดันขาย ทำลายแบรนด์ข้าวไทย

“รศ.หริรักษ์” ชำแหละต้นตอปัญหาข้าว 10 ปีโครงการจำนำข้าว รัฐบาลหวังได้ 3 ต่อแต่กลับเสีย ชี้ข่าวส่งออกแอฟริกา ทำลายชื่อเสียงแบรนด์ข้าวไทย

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ระบุว่า

ข้าว 10 ปี

ได้ดูรายการ คนเคาะข่าว ในช่อง News One ซึ่งเชิญผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าว ผศ.ดร.รัตนาภรณ์ ธรรมโกศล นักวิชาการด้านการเกษตรและที่ปรึกษาผู้ส่งออกข้าวไปยังทวีปแอฟริกามาร่วมสนทนา

ฟังแล้วทำให้แน่ใจว่าการจัดงานกินข้าวอายุ 10 ปีโชว์ 2 ครั้ง และการดึงดันที่จะเปิดประมูลขายข้าวโดยให้ข่าวว่า ผู้ประมูลจะส่งออกไปยังประเทศในแอฟริกา ของคุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สร้างความเสียหายต่อแบรนด์ข้าวไทยมากกว่าที่เราคิด

ก่อนอื่น ขอย้อนกลับไปทบทวนที่ต้นตอหรือที่มาของข้าวล็อตนี้ที่มีปริมาณ 1.5 หมื่นตัน อายุ 10 ปีกันเสียก่อน

ข้าว 1.5 หมื่นตัน อายุ 10 ปี ที่เก็บรักษาอยู่ในโกดังที่จังหวัดสุรินทร์ เป็นข้าวล็อตสุดท้ายจากการดำเนินนโยบายจำนำข้าว ในรัฐบาลทักษิณคิด เพื่อไทยทำที่ยังเหลืออยู่ นโยบายจำนำข้าวที่บรรดานักการเมืองพรรคเพื่อไทยมักตอบโต้ผู้ที่นำเรื่องนี้ขึ้นมาพูดว่า เลิกพูดเรื่องจำนำข้าวได้แล้ว เรื่องมันจบไปนานแล้ว

แต่ความจริงเรื่องยังไม่จบ เพราะมันยังคงสร้างความเสียหายให้ประเทศต่อไปได้อีก ประหนึ่งว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมาแล้วยังไม่พอ แทนที่จะข้าวล็อตสุดท้ายจะหมดไปด้วยดี กลับกลายเป็นข้าวที่กลับมาสร้างความเสียหายต่อไปได้อีก ด้วยน้ำมือของคนชุดเดิม

นโยบายจำนำข้าวมีหลักการคือ รับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาทุกเมล็ดในราคาตันละ 1.5 หมื่นบาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดเกือบ 2 เท่า และเล็งผลเลิศว่า เมื่อรับซื้อข้าวจากชาวนามาเก็บไว้ยังไม่ขาย รอจนอุปทานของข้าวในตลาดโลกน้อยลง เนื่องจากประเทศเราเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ราคาข้าวจะสูงขึ้นกว่าราคารับจำนำ รัฐบาลก็จะขายออกไปโดยทำกำไร นอกจากได้กำไรแล้วก็ยังขายให้กับพรรคพวกในราคาต่ำ ทำเงินเข้ากระเป๋าได้อีก อย่างที่มีการขายข้าว จีทูจี ปลอม จนต้องติดคุกกันระนาวนั่นเอง

จะเห็นว่า รัฐบาลหวังจะได้ 3 เด้ง หนึ่งคือชาวนาขายข้าวได้ราคาดี สองคือ รัฐบาลได้กำไรจากการขายข้าวที่รับซื้อจากชาวนา และเมื่อขายข้าวให้พรรคพวกก็ยังทำให้ได้เงินเข้ากระเป๋าอีกด้วย ดูแล้วมีแต่ได้กับได้

ข้าว

แต่อนิจจา สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะประเทศเวียตนามและอินเดียเขาก็สามารถส่งออกข้าวได้ เขาจึงเข้ามาเสียบแทน ทำให้ราคาข้าวที่หวังว่าจะสูงขึ้นกลับไม่สูงขึ้นอย่างที่คาด

ที่ร้ายกว่านั้น ตามที่ผศ.ดร.รัตนาภรณ์ให้ข้อมูล เมื่อผู้ซื้อเขาไปซื้อข้าวจากผู้ส่งออกประเทศอื่น มีจำนวนไม่น้อยที่เขาไม่กลับมาซื้อจากเราอีก ผลคือทำให้ประเทศเราที่เคยส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ต้องกลายเป็นอันดับ 3 หรือ 4 ไปอย่างช่วยไม่ได้

เมื่อข้าวราคาไม่สูงขึ้น ขายก็ขายไม่ได้ เพราะขายแล้วจะขาดทุน ทำให้รัฐบาลมีข้าวจำนวนมหาศาลเก็บอยู่ในโกดังต่างๆ ยิ่งเก็บนานค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาที่รัฐบาลต้องจ่ายก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ข้าวก็เสื่อมสภาพได้แต่ซื้อแต่ขายไม่ได้หรือขายได้น้อย ทำให้เงินหมด แค่ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาก็แทบจ่ายไม่ไหว ทำให้ไม่มีเงินจ่ายชาวนา

และเมื่อคุณยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา กลายเป็นรัฐบาลรักษาการ ทำให้กู้เงินเพิ่มไม่ได้ ชาวนาจำนวนมากที่ขายข้าวได้ใบประทวนไปแล้วแต่ขึ้นเงินไม่ได้ กลุ้มใจจนฆ่าตัวตายกันไปหลายต่อหลายคน

เมื่อรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ถูกรัฐประหาร รัฐบาล คสช. เข้ามาแก้ปัญหา โดยทำการสำรวจข้าวทั้งหมด และพยายามระบายออกไปให้ได้ จากข้อมูลของผศ.ดร.รัตนาภรณ์ ซึ่งมีส่วนร่วมเข้าไปทำการสำรวจ พบว่า ในช่วงนั้นข้าวบางส่วนก็เริ่มเสื่อมสภาพแล้ว บางโกดังก็มีข้าวเน่า บางส่วนป่นเป็นผง

นอกจากนี้ ยังมีบางโกดังที่มีกองข้าวกลวง กล่าวคือนำเอานั่งร้านมาตั้งแล้วนำกระสอบข้าวปิดไว้ด้านบน กลุ่มเอกชนเช่นสมาคมผู้ส่งออกข้าว ต้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหา คือหาทางระบายข้าวออกไปให้ได้มากที่สุด ข้าวดีก็ประมูลขายออกไป ข้าวเสื่อมสภาพก็ประมูลขายให้ไปทำเป็นอาหารสัตว์ ข้าวเน่าก็ประมูลขายไปให้ทำแอลกอฮอลล์ เป็นต้น

อย่างที่ทราบกันดีว่า จนถึงปัจจุบันรัฐบาลยังใช้คืนหนี้ที่เกิดขึ้นจากนโยบายจำนำข้าวไม่หมด ยังคงเหลืออีกประมาณ 1.2 แสนล้าน

มาถึงข้าวที่เหลืออยู่ล็อตสุดท้าย ไม่ทราบว่าเพื่ออะไร กระทรวงพาณิชย์ โดยรัฐมนตรีภูมิธรรม เกิดลุกขึ้นมาจัด event กินช้าวโชว์ 2 ครั้ง และประกาศว่าจะประมูลขายเพื่อนำเงินกลับเข้ารัฐ ความเป็นไปได้คือส่งไปขายในแอฟริกา เพราะคนแอฟริกันชอบกินข้าวเก่า

ข่าวนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศต่างในแอฟริกา ผศ.ดร.รัตนาภรณ์ ได้เล่าในรายการ คนเคาะข่าวว่า รัฐมนตรีพาณิชย์ของไนจีเรียซึ่งรู้จักกันเป็นส่วนตัว ได้แจ้งให้ทราบว่า บัดนี้เรื่องข้าว 10 ปีของไทยพยายามจะส่งออกไปยังแอฟริกา เป็นข่าวธุรกิจหน้าหนึ่งไปแล้ว

อ.รัตนาภรณ์ยังเล่าว่า บรรดาทูตในกลุ่มประเทศแอฟริกาต่างก็ขอให้กระทรวงต่างประเทศชี้แจง แต่กระทรวงต่างประเทศก็ไม่สามารถชี้แจงได้ เพราะเป็นการกระทำของกระทรวงพาณิชย์

ผศ.ดร.รัตนาภรณ์ ธรรมโกศล
ผศ.ดร.รัตนาภรณ์ ธรรมโกศล

อ.รัตนาภรณ์ยังให้ข้อมูลว่า ข้าวที่ส่งออกจากประเทศไทยไปแอฟริกาล้วนเป็นข้าวนึ่งหรือ parboiled rice ซึ่งต้องผ่านกระบวนการเฉพาะคือ ผ่านไอน้ำตั้งแต่เป็นข้าวเปลือก แล้วจึงไปผ่านขั้นตอนทำให้แห้ง จึงนำไปสี ซึ่งเฉพาะโรงสีที่มีเครื่องจักรและอุปกรณ์โดยเฉพาะเท่านั้นจึงจะผลิตข้าวนึ่งได้ ไม่ตรงกับที่คุณภูมิธรรมบอกว่า คนแอฟริกันชอบกินข้าวเก่า ถ้าอย่างนั้น ข้าว 10 ปี ที่จะเปิดประมูลขายจะส่งไปไหนกันแน่ หรือจะผสมกับข้าวดีแล้วขายในประเทศ

ไม่ว่าจะส่งออกหรือขายในประเทศก็ตาม ข่าวที่แพร่ไปทั่วโลกได้สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นต่อแบรนด์ข้าวไทยเรียบร้อยแล้ว เพราะทำให้ความไว้วางใจที่เคยมีต่อแบรนด์ข้าวไทยว่าเป็นข้าวคุณภาพดีลดลง หากยังดึงดันประมูลขายเพื่อให้คนบริโภคต่อไป ความเสียหายก็จะยิ่งมากขึ้นเป็นทวีคูณ

ไม่ว่าจะปฏิเสธอย่างไร ความจริงคือ ปัญหาและความเสียหายที่สร้างไว้เมื่อดำเนินนโยบายจำนำข้าวมีมากเหลือคณา รัฐบาลที่รับช่วงต่อต้องตามแก้ปัญหาอย่างยากลำบาก อย่าได้คุยโม้ว่า นโยบายจำนำข้าว ชาวนาได้ประโยชน์ รัฐไม่ได้เสียหาย ข้าวเน่าไม่มีจริง ข้าว 10 ปียังไม่เน่า เพราะคนที่เขาเข้าไปสำรวจโกดังข้าวทุกโกดังหลังจากการรัฐประหารปี 2557 เขายืนยันว่าพบทั้งข้าวดี ข้าวเสื่อมสภาพ ข้าวเน่า ข้าวป่น ข้าวเวียนเทียน ข้าวไม่ตรงปก ยังไม่ต้องพูดถึงการทุจริตที่เกิดขึ้นตลอดทางตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ

ข้าวอายุ 10 ปี ที่ยังไม่เสื่อมสภาพ ไม่มีสารพิษ ทั้งมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนเท่ากับข้าวใหม่ เป็นเรื่องปาฎิหารย์ที่เป็นไปไม่ได้

ยังไม่สายเกินไปที่ยกเลิกการประมูลขาย หากยังคงดีงดันเดินหน้าต่อไป ก็ต้องนับว่าพวกท่านทั้งหลายมีความอำมหิตต่อประเทศชาติอย่างเหลือแสน เพราะผลกระทบในทางลบต่อแบรนด์ข้าวไทยจะยิ่งแผ่ขยายกว้างขวางขึ้น จะต้องใช้เวลาอีกกี่ปี จึงจะสามารถดึงความไว้วางใจและความเชื่อมั่นของชาวโลกกลับมาได้

ถ้ายังเห็นแก่ประเทศชาติอยู่บ้าง หยุดเสียเถิดครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo