Economics

‘นฤมล’ โชว์วิสัยทัศน์เวที ‘SPIEF’ ดัน ‘ไทย’ ศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพเอเชีย-ครัวสีเขียวโลก

“นฤมล”  โชว์วิสัยทัศน์บนเวที SPIEF ย้ำ ไทยขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เดินหน้าผลักดันให้ไทย เป็นครัวสีเขียวของโลก และศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพของเอเชีย

วันนี้ (6 มิ.ย.) เวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัสเซีย นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย ได้เข้าร่วมการประชุม St. Petersburg International Economic Forum (SPIEF) ครั้งที่ 27 ซึ่งมีผู้แทนกว่า 130 ประเทศ เข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์การประชุม Ekspoforum

นฤมล

โอกาสนี้ ผู้แทนการค้าไทยได้ร่วมอภิปรายในการประชุม Ecological Horizons 2030: Investing in Circular Economy ภายใต้หัวข้อ “Investing in Circular Economy” โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยได้นำแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) มาใช้เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นการผสมผสานแนวทางการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้งด้านสังคม และการบูรณาการเศรษฐกิจ โดยปรับเปลี่ยน และประยุกต์ให้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นของไทย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร เปลี่ยนขยะให้เป็นความมั่งคั่ง ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ผูัแทนการค้า ย้ำว่า ประเทศไทยมุ่งที่จะส่งเสริมการพัฒนาที่สมดุล และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนใน 5 ด้านที่ไทยโดดเด่นและมีศักยภาพ ได้แก่ อาหารและเกษตรกรรม บริการทางการแพทย์และสุขภาพ พลังงานชีวภาพ วัสดุชีวภาพ และชีวเคมี การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามของไทย ที่จะเป็นครัวสีเขียวของโลก และศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพของเอเชีย

ในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจชีวภาพ และเศรษฐกิจสีเขียวนั้น ผู้แทนการค้าระบุว่า ประเทศไทย เน้นหลักการในการบริหารจัดการของเสียและมลพิษ และการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์และวัสดุ รวมถึง การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยโมเดลเศรษฐกิจ BCG จะช่วยปรับปรุงระบบการผลิต และการใช้ผลิตภัณฑ์ ในขณะเดียวกันจะสร้างมูลค่าในทุกระดับของกระบวนการผลิต และการบริโภค เพื่อให้บริหารจัดการทรัพยากร และนำมาใช้ได้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด

นฤมล

นางนฤมล ระบุด้วยว่า รัฐบาลไทยพร้อมส่งเสริมให้ธุรกิจ และเอสเอ็มอี พัฒนารูปแบบการรีไซเคิลจากขยะเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม รวมถึงนำนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และบรรจุภัณฑ์แบบหมุนเวียนมาใช้ในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งต้องมีความยืดหยุ่น เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ทั้งยังต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน และสร้างความเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการจัดการขยะ จะนำไปสู่โลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้อย่างไร

ทั้งนี้ ภาคส่วนสาธารณะจำเป็นต้องให้ความรู้แก่ประชาชน ชักจูงให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติ และวิถีชีวิตเพื่อให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น และส่งเสริมความสมดุลระหว่างกิจกรรมของมนุษย์และธรรมชาติ

ขณะเดียวกันการบังคับใช้กฎหมายยังคงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมของประชาชนให้ไปในทิศทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย และภาคเอกชนสามารถนำมาตรการปฏิรูปขยะมาใช้ในสายการผลิตโดยใช้แนวคิดขยะเป็นศูนย์ รีไซเคิล และนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo