Marketing Trends

ทำความรู้จัก ผู้บริโภค ‘กลุ่ม ALICE’ ครองสัดส่วน 72.8% ของครัวเรือนไทย

SCB EIC ชวนทำความรู้จักผู้บริโภค “กลุ่ม ALICE” ที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดอย่างหนัก ในภาวะค่าครองชีพสูงแต่รายได้จำกัด

ALICE ในสหรัฐ คือกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่อปีมากกว่าความยากจนที่กำหนด ทำให้ไม่มีสิทธิรับความช่วยเหลือจากรัฐ แต่ก็ไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

กลุ่ม ALICE

การแก้ปัญหาความยากจนสามารถวัดจากตัวเลขจำนวนครัวเรือนยากจนที่ลดลงได้จริงหรือ เพราะสิ่งนี้อาจไม่ได้การันตีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคมเสมอไป หลายครัวเรือนมีรายได้เกินเส้นความยากจนและเกินเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่รายได้กลับไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นพื้นฐาน

ในสหรัฐ เรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า ALICE โดยกลุ่มคนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้หากกลับมาพิจารณาในบริบทของครัวเรือนไทย ก็น่าสนใจว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีอยู่มากน้อยแค่ไหน และมีพฤติกรรมในการบริโภคสินค้าเป็นอย่างไรในบทความนี้จะนำทุกท่านไปรู้จักกับ ALICE ให้มากขึ้น

กลุ่ม ALICE คือใคร และแนวโน้มเป็นอย่างไร

ALICE หรือ Asset Limited, Income Constrained, Employed เป็นศัพท์ที่นิยามโดย United Way จากองค์กร United for ALICE Program ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ทำงานด้านนวัตกรรม งานวิจัย และการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้

กลุ่ม ALICE ในสหรัฐ หมายถึง กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่อปีมากกว่าความยากจนที่ภาครัฐกำหนด (Federal Poverty Line) โดยครัวเรือนที่มีสมาชิก 1 คน จะมีรายได้อยู่ที่ 15,060 ดอลลาร์ต่อครัวเรือน หรือครัวเรือนที่มีสมาชิก 4 คน จะมีรายได้อยู่ที่ 31,200 ดอลลาร์ต่อครัวเรือน ซึ่งตัวเลขจะเปลี่ยนไปตามจำนวนสมาชิกในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น

คนอเมริกันกลุ่มนี้ แม้จะมีรายได้มากกว่าเส้นความยากจน ทำให้ไม่มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือต่าง ๆ จากภาครัฐ เช่น Food stamp เป็นต้น แต่ก็ไม่สามารถที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน และเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน (เช่น ค่ารักษาพยาบาล) ที่จำเป็นต้องใช้เงิน อาจต้องเบียดเบียนเงินสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ค่าเช่าที่อยู่อาศัย เป็นต้น

ปัจจุบัน จำนวนครัวเรือนที่อยู่ในกลุ่ม ALICE ในสหรัฐ มีเกือบ 40 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 29% ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต โดยรายได้ส่วนใหญ่ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหมดไปกับการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค บริโภค

ดังนั้น การปรับขึ้นของราคาสินค้า จะทำให้กำลังซื้อของคนในกลุ่มนี้เปราะบางมากขึ้น ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมักปรับตัวได้ไม่ดีนัก เนื่องจากค่าแรงอาจโตไม่ทันค่าใช้จ่าย ในขณะที่มีการออมและการลงทุนน้อย

ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อาจไม่มีทางเลือกให้คนกลุ่มนี้เปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายได้มากนัก เมื่อค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ ในการประคองชีวิตต่อไป กลุ่มผู้มีรายได้น้อยจึงก่อหนี้เพื่อให้ครอบคลุมกับค่าใช้จ่าย ทำให้ครัวเรือนในสหรัฐ พึ่งพาบัตรเครดิตมากขึ้น

ภาวะดังกล่าว ส่งผลให้หนี้บัตรเครดิตในสหรัฐ พุ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่ยอดการออมส่วนบุคคลลดลง ในปี 2566 ที่มาผ่านมา อัตราการผิดนัดชะหนี้บัตรเครดิตในสหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็น 3.1% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 12 ปี

ทำความรู้จักกลุ่ม ALICE ในสังคมไทย

หากเทียบกลุ่ม ALICE ในเศรษฐกิจไทยแล้ว เทียบเคียงได้กับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 1 หมื่นบาท แต่น้อยกว่า 5 หมื่นบาทต่อครัวเรือน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เมื่อรวมภาระหนี้สินและค่าใช้จ่ายต่อเดือนของครัวเรือนแล้ว มีสัดส่วนมากกว่ารายได้ของครัวเรือน

จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) แสดงให้เห็นว่า กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 5 หมื่นบาท มีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายและค่าใช้จ่ายรวมกันมากกว่ารายได้ของครัวเรือน (ค่าใช้จ่ายรวมกับหนี้สินเกิน 100% ของรายได้ครัวเรือน) ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ของครัวเรือนต่อเดือนมากกว่า 5 หมื่นบาท เมื่อรวมภาระหนี้และค่าใช้จ่ายต่อเดือนแล้ว ยังมีส่วนที่เหลือในการออม

SCB Alice

จากข้อมูลของ SCB EIC และสำนักงานสถิติแห่งชาติ กลุ่ม ALICE มีสัดส่วนประมาณ 72.8% ของครัวเรือนไทยทั้งหมด หรือประมาณ 17.4 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ในขณะที่กลุ่มครัวเรือนยากจนมีรายได้ในครัวเรือนต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 14.7% หรือราว 3.5 ล้านครัวเรือน

ในปัจจุบันการช่วยเหลือภาครัฐ ที่มอบให้กับกลุ่มคนจน จะอยู่ในรูปแบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือคนจนที่มีรายได้ครัวเรือนต่อปีไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคน โดยผู้ถือบัตรคนจนหรือบัตรประชารัฐจะได้รับเงินช่วยเหลือ อาทิ วงเงินซื้อสินค้า 300 บาทต่อคนต่อเดือน วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 80 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน วงเงินค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ 750 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่ม ALICE ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการเหล่านี้

แนวโน้มในการซื้อสินค้าของ ALICE ในไทย

จากผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey เดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 จำนวน 568 ตัวอย่างที่ไม่ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมีรายได้ต่อครอบครัวไม่เกิน 5 s,njoบาทต่อเดือน พบว่า กลุ่มตัวอย่างอย่างราว 36% มีสมาชิกในครอบครัวมากกว่า 3 คน และ 43% ของกลุ่มตัวอย่างบอกว่ามีเพียงสมาชิกคนเดียวในครอบครัวที่มีรายได้

ช้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนเหล่านี้มีอัตราส่วนการพึ่งพิง (Dependency ratio) ค่อนข้างสูง และเมื่อสอบถามถึงรายได้และค่าใช้จ่ายในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งตอบว่า รายได้ลดลง/ไม่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และถึงแม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่ผู้บริโภคเหล่านี้คาดว่าจะสามารถปรับพฤติกรรมให้สอดรับกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ โดยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นบางอย่างออก

จากผลสำรวจพบว่าร้านค้าที่ ALICE เลือกซื้อสินค้าส่วนใหญ่ จะเป็นร้านค้าขนาดเล็กหรือเน้นไปที่ช่องทางที่ขายสินค้าราคาย่อมเยา โดยกลุ่มตัวอย่างจะเลือกซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน อันดับ 1 จากร้านสะดวกซื้อ ซึ่งร้านเหล่านี้ เข้าถึงได้ง่าย และสินค้าที่วางจำหน่ายส่วนใหญ่เป็นสินค้าขนาดเล็ก

อันดับที่ 2 คือ ตลาดสด ซึ่งมีสินค้าที่หลากหลายและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าราคาย่อมเยาได้มากกว่ากว่าซูเปอร์มาร์เก็ต และอันดับที่ 3 คือ Hypermarket ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าของ Hypermarket ที่มีกลุ่มลูกค้าคือผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง

สำหรับสินค้าประเภทอื่น ๆ อย่างเช่น สินค้าแฟชั่น สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ALICE ซื้อสินค้าเหล่านี้ผ่านช่องทางออนไลน์เป็นสัดส่วนที่สูง ไม่ว่าจะเป็นบนมาร์เก็ตเพลส หรือร้านค้าในแพลตฟอร์มโซเชียล

สำหรับร้านค้าออนไลน์เหล่านี้ เป็นแหล่งที่สามารถหาซื้อสินค้าได้หลากหลาย ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาจากร้านต่าง ๆ เพื่อให้ได้สินค้าที่ราคาดีที่สุดก่อนตัดสินใจซื้อ อีกทั้ง ร้านค้าออนไลน์มีการจัดโปรโมชั่นบ่อย ๆ ทำให้ดึงดูดลูกค้า ALICE ที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อราคา (Price sensitive) ให้ใช้จ่ายมากขึ้น

นอกจากนี้ ในด้านการปรับตัวของ ALICE เมื่อราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น จากผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็น ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของการซื้อสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันน่าจะลดลงไม่มากนัก ขณะที่สินค้าที่ค่อนข้างฟุ่มเฟือยอย่างเสื้อผ้า เครื่องสำอาง อาจมียอดขายที่ได้จากกลุ่มนี้ลดลงมาก

รองลงมา จะมองหาส่วนลดในการซื้อสินค้า ทำให้ร้านค้าที่จัดโปรโมชั่นลดราคาบ่อย ๆ จะเป็นร้านค้าที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้เลือกจับจ่ายใช้สอยเมื่อราคาสินค้าแพงขึ้น

อันดับที่ 3 คือการมองหาสินค้าที่ราคาถูกลง ในที่นี้อาจสะท้อนได้ว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้ จะเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณสมบัติคล้ายกัน แต่ราคาถูกว่า เช่น สินค้า House brand หรืออาจเลือกซื้อสินค้าที่มีขนาดเล็กลง เพราะราคาต่อชิ้นถูกกว่า

โดยสรุปแล้ว กลุ่ม ALICE คือกลุ่มที่มีรายได้ต่อครัวเรือนสูงเกินที่จะรับสวัสดิการจากภาครัฐ แต่ขณะเดียวกัน รายได้ก็ยังไม่เพียงพอที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี บางครั้งคนกลุ่มนี้ต้องละทิ้งการใช้จ่ายในบางอย่าง เพื่อมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเป็นกลุ่มที่เปราะบางเมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้ออย่างมาก

ดังนั้น พฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการของกลุ่มเหล่านี้ จึงมักจะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาเป็นหลัก โดยมักเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าที่มีสินค้าหลากหลายและมีราคาย่อมเยากว่าร้านค้าอื่น ๆ

นัยสำคัญต่อผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีกลุ่มนี้ เป็นลูกค้าหลัก จึงควรระมัดระวังในการปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะจะกดดันกำลังซื้อของคนกลุ่มนี้ รวมไปถึงการนำเสนอทางเลือกสินค้าที่หลากหลาย ทั้งแบรนด์ ราคา และโปรโมชั่น ตลอดจนการวางจำหน่ายสินค้า House brand ที่มีราคาถูกกว่า รวมถึงเพิ่มสัดส่วนสินค้าขนาดเล็กที่ราคาถูกกว่าขนาดปกติ เพื่อกระตุ้นการซื้อ

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการอาจพิจารณาเพิ่มร้านค้ารูปแบบอื่น ๆ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่รายได้สูงกว่ากลุ่ม ALICE เพื่อลดความเสี่ยงจากยอดขายที่ลดลงจากความผันผวนของเศรษฐกิจด้วยอีกทางหนึ่งด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo