CEO INSIGHT

เสียงสะท้อนจาก SME สุราชุมชน ‘Phai Craft’ กับความหวังสร้างชื่อสุราไทย

‘Phai Craft’ สุราชุมชนฝีมือคนไทย ขอบคุณ สสว. มอบโอกาสโชว์อัตลักษณ์แตกต่าง ในงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2024 หวังสร้างชื่อสุราไทยผงาดต่างแดน วอนภาครัฐสนับสนุน ทลายข้อจำกัดสร้างการรับรู้ เปลี่ยนทัศนติคนไทยมองเหล้าขาวเป็นเครื่องดื่มชนชั้นแรงงาน

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ไทย เข้าร่วมออกบูธในงาน THAIFEX – ANUGA ASIA 2024 ที่ผ่านมา หนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับโอกาสคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เชียงใหม่ พีเอส 2554 ผู้ผลิตสุราชุมชน จากข้าวหอมมะลิ ภายใต้แบรนด์ PHAI CRAFT หรือ ไผ่คราฟท์

สุราไทย

พิสัณห์ แสนหลวง ซีอีโอ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เชียงใหม่ พีเอส 2554 เล่าว่า จุดเริ่มต้นของ PHAI CRAFT ก่อตั้งขึ้นจากการสืบทอดวิธีการต้มเหล้าจากคุณลุงมาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งคุณลุงเป็นผู้เชี่ยวชาญการทำสาโทในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เรียกกันว่าเหล้าไหหลุม (เหล้าใส่ไหฝังดิน) เพราะว่าสมัยก่อนนั้นการทำเหล้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ไผ่คราฟท์1

ต่อมาคุณพ่อจึงนำเอาความรู้ที่ได้รับสืบทอดมาพัฒนาเป็นสุรากลั่น 28 ดีกรี (เหล้าไผ่แก้ว) นำมาทำให้ถูกกฎหมาย แต่ด้วยกลิ่นและรสสัมผัสที่ยากต่อการเข้าถึงของคนรุ่นใหม่ ทำให้ผมที่ชื่นชอบศิลปะและประวัติศาสตร์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วโลก จึงต้องการยกระดับเหล้าของเราให้ทัดเทียมกับต่างชาติและสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น พัฒนาจนกลายเป็นแบรนด์ ไผ่คราฟท์ ในปัจจุบัน

ด้วยความที่ ไผ่คราฟท์ ผลิตจากข้าวหอมมะลิของไทย ความตั้งใจของเราคือ อยากเห็นสุราไทยไปไกลสู่ระดับโลก อยากให้ทุกคนรู้ว่าข้าวไทยสามารถทำเหล้าได้ดีไม่แพ้สาเกจากข้าวญี่ปุ่น และหากได้รับการตอบรับเป็นวงกว้าง หวังว่าจะสามารถช่วยต่อยอด และกระจายรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวชาวไทยในอนาคตอีกด้วย

การทำตลาดของ ไผ่คราฟท์ ที่ผ่านมา เริ่มต้นจากปี 2558 เน้นการทำตลาดแบบปากต่อปาก ปัจจุบันจำหน่ายทั้งช่องทางออนไลน์ และตัวแทนจำหน่าย รวมทั้งอยู่ระหว่างการเจรจากับซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำเข้าไปวางจำหน่ายในเร็ว ๆ นี้

ไผ่คราฟท์3

พิสัณห์ ยังบอกอีกว่า การเข้าร่วมงาน THAIFEX – ANUGA ASIA 2024 ภายใต้การสนับสนุนของ สสว. นับเป็นครั้งแรกและถือเป็นก้าวสำคัญของสุราชุมชนคนไทย ที่มีโอกาสออกงานใหญ่ระดับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลตอบรับที่ได้รับความสนใจจากลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างมาก มีการเจรจาธุรกิจเพื่อส่งออกในหลายประเทศ อาทิ ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น เกาหลี

สสว. เป็นหน่วยงานที่ดีมาก ทั้งการให้ข้อมูล คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ และมีโครงการดี ๆที่น่าสนใจมากมาย ถือเป็นการสร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ปัจจุบันมีอุปสรรคสำคัญในการสร้างการรับรู้ จากข้อจำกัดด้านโฆษณา

ไผ่คราฟท์2

ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันอุปสรรคในการทำตลาดสุราชุมชนของไทยคือ ทัศนคติที่เป็นลบของคนไทยเอง โดยมองว่า เหล้าขาวเป็นสินค้าของชนชั้นแรงงาน คนมีรายได้น้อย เมื่อไม่สามารถโฆษณา หรือให้ความรู้ที่ถูกต้องได้ ก็ไม่สามารถแก้ทัศนติด้านลบนี้ได้ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการแจ้งเกิดสุราไทย

จากอุปสรรคดังกล่าว ทำให้ พิสัณห์ มองว่า ภาครัฐควรให้การสนับสนุนสุราชุมชนของไทย ด้วยการลดข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อให้สามารถสร้างการรับรู้ว่าสุราชุมชนของไทยก็มีคุณภาพไม่แพ้ใคร และที่สำคัญยังสามารถสร้างเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไม่แพ้สุราขาวในต่างประเทศอย่าง สาเก วอดก้า ซึ่งจะทำให้สร้างรายได้เข้าประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo