COLUMNISTS

‘โต๊ะสะเบื๊อก’ เมนูใจฟู

Avatar photo
วิทยาลัยดุสิตธานี สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกและแห่งเดียวของไทยที่สอนด้านธุรกิจบริการโดยตรงในเครือโรงแรมดุสิตธานี

คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่า ที่เมื่อเดินทางไปแห่งหนตำบลไหน จะไม่พลาดการรับประทานอาหารพื้นถิ่นของคนในท้องที่ด้วยเพราะหน้าตา รสชาติของอาหารในแต่ละภูมิภาค มักมีเสน่ห์ดึงดูดใจของนักท่องเที่ยวต่างถิ่นเป็นทุนเดิมเสมอ

แต่ในมุมมองของผู้เขียนแล้ว อาหารท้องถิ่นมิใช่มีแค่เพียงความอร่อยที่ไม่คุ้นลิ้นเท่านั้นที่ แต่อาหารยังสื่อถึงอะไรได้มากกว่านั้น

อาหารท้องถิ่นไม่ใช่เป็น “แค่อาหาร” แต่เป็นการ “สื่อสารทางวัฒนธรรม” ที่บอกให้เราทราบถึงขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม การดำเนินชีวิตและอะไรอีกหลายประการ การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และความรู้จากที่ต่าง ๆ เหล่านี้สำคัญมากสำหรับผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยดุสิตธานี เพราะเป็นเสมือนคลังความรู้ไว้ถ่ายทอดต่อให้แก่นักศึกษา

โต๊ะสะเบื๊อก
ภาพ: ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปนอนที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โชคดีมากที่ได้รับคำแนะนำจากเจ้าของโฮมสเตย์ว่า ให้หารถท้องถิ่นเช่าขึ้นไป หมู่บ้านละอูบ หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขา ห่างจากอำเภอแม่ลาน้อยออกไปถึง 32 กิโลเมตร จนแทบจะถึงอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่อยู่แล้ว

เดิมมีชื่อว่า โมซัมเบรียง ซึ่งแปลว่า ภูเขาโมซัมเบรียง ชาวบ้านที่นี่เป็นชาวละเวื้อะ (ลั๊วะ หรือบางคนอาจรู้จักในชื่อของละว้า) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชาวละเวื้อะที่นี่มีวิถีวัฒนธรรมต่างไปจากชาวไทยภูเขาเผ่าอื่น เช่น การสร้างที่อยู่อาศัย การแต่งกาย ประเพณี และพิธีกรรม ใช้วิถีชีวิตเรียบง่าย ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินที่ดีที่สุดในแม่ฮ่องสอน มีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่โดดเด่น ได้แก่ ผ้าทอละว้า และกาแฟ

ส่วนใหญ่แล้ว คนที่ได้ขึ้นไปเยี่ยมเยือนหมู่บ้านละอูบ จะไม่พลาดการชิมกาแฟสดคั่วบด ที่เราอาจเคยได้ยินในชื่อว่า “กาแฟห้วยห้อม” และสิ่งที่ผู้เขียนขาดไม่ได้คือ การไปร่วมรับประทานอาหารกับชาวบ้าน อาหารต่าง ๆ จะถูกจัดใส่จานมาให้พวกเรานั่งล้อมวงร่วมรับประทานในบ้านกับพวกเขาเลย

ความสนใจของผู้เขียนพุ่งไปที่อาหารจานหนึ่ง ที่หน้าตาก้ำกึ่งระหว่างลาบ กับ หลู้ ได้ยินเจ้าของบ้านแนะนำครั้งแรกก็แทบจะออกเสียงไม่ถูกเลยทีเดียว ใช่ค่ะ มันคือ “โต๊ะสะเบื๊อก” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “สะเบื๊อก”

โต๊ะสะเบือก เป็นภาษาละเวื้อะ “โต๊ะ” หมายถึง เนื้อหมู “สะเบื๊อก” หมายถึงยำ พอแปลรวมกันก็จะหมายถึง ยำเนื้อหมู นั่นเอง อาหารจานนี้เป็นอาหารรับแขก และยังถือว่าเป็นอาหารมงคลชนิดหนึ่งอีกด้วย มักใช้ในงานสำคัญต่าง ๆ ตั้งแต่ขึ้นบ้านใหม่ ไปจนกระทั่งถึงการไหว้ผีบรรพบุรุษ

เจ้าของบ้านเสริมว่า แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นยำเนื้อหมู แต่ก็สามารถใช้เนื้อสัตว์อื่น ๆ มาปรุงได้ด้วยเหมือนกัน ส่วนผสมของโต๊ะสะเบือกก็มี เนื้อหมู พริกขี้หนู ตะไคร้ หอมแดง ต้นหอม ผักชี เกลือ

วิธีทำคือ นำเนื้อหมู (ส่วนใหญ่จะใช้หมูสามชั้น) ไปต้มในน้ำเปล่าให้สุกทั่วกัน ตักหมูขึ้นมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ พริกขี้หนูโขลกละเอียด ตะไคร้ หอมแดง ผักชี ต้นหอม ซอยละเอียดๆ นำส่วนผสมทั้งหมดใส่รวมกัน ปรุงรสด้วยเกลือ คลุกเคล้าทุกอย่างให้เข้ากัน เอามาห่อใส่ใบตองเป็นอันจบกระบวนการ

ยิ่งรับประทานคู่กับ “ต้มฮินโหย่ว” ซี่โครงหมูอ่อน ที่ปรุงกับใบกระเจี๊ยบ เล่นเอาผู้เขียนรีบเก็บข้าวห่อที่ซื้อไว้เป็นมื้อกลางวันลงเป้แทบไม่ทัน อร่อยจนลืมขนมปังไส้กรอกที่เตรียมไว้เลยเชียว ก่อนจะกลับเจ้าของบ้านยังใจดีเอาห่อใส่ใบตองให้ผู้เขียนเอากลับลงมากินได้อีกหนึ่งมื้อ

เคยอ่านงานเขียนอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ท่านกล่าวไว้ว่า “อาหารและการกินเป็นการกำหนดพวก” วินาทีนั้น ผู้เขียนจึงฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า การร่วมรับประทานอาหารกับเจ้าของบ้าน อาจเป็นการสื่อถึงความสัมพันธ์ทางสังคม ที่บอกว่าเราคือใคร และมีความสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างไร

เมนูโต๊ะสะเบื๊อก กลายเป็นการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ กำหนดว่าการกินอาหารร่วมกัน (Commensurate) ซึ่งหมายถึง การยอมรับว่าเราเป็นพวกเดียวกัน เสมือนเป็นเพื่อน พี่น้องเดียวกันแล้ว

เมื่อกระจ่างถึงความหมายดังนี้ ความรู้สึกขณะเดินทางกลับลงมาจากหมู่บ้านจึงอิ่มเอมพองฟูมากกว่าความอิ่มท้องที่ได้รับเสียอีก

โต๊ะสะเบื๊อก
ผู้เขียน: นิศา บูรณภวังค์ อาจารย์ประจำสังกัดศูนย์ภาษา วิทยาลัยดุสิตธานี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่