COLUMNISTS

ส่องธุรกิจโรงแรม ทุนไทยออกไปซื้อ หรือลงทุนในต่างประเทศ (ตอนจบ)

Avatar photo
กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด (Property DNA)

ช่วงก่อนหน้านี้ บริษัทหรือผู้ประกอบการไทยหลายรายออกไปซื้อกิจการโรงแรมหรือซื้อหุ้นในบริษัทที่มีชื่อเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมในหลายประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ โดยเฉพาะในยุโรป และเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ๆ เช่น สิงห์โฮเต็ลแอนด์รีสอร์ต แมกโนเลียฯ ไมเนอร์ เป็นต้น ซึ่งในปี 2566 มีหลายบริษัทที่ออกนอกประเทศไทยไปซื้อกิจการโรงแรมในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทหรือนักลงทุนรายใหญ่ที่ลงทุนในต่างประเทศมาต่อเนื่องอยู่แล้ว เช่น

ธุรกิจโรงแรม

บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ซื้อกิจการรีสอร์ทระดับหรูในเมือง Gaafu Dhaalu Atoll ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศมัลดีฟส์ โดยทางไมเนอร์ร่วมกับทาง Abu Dhabi Fund for Development (“ADFD”) โดยไมเนอร์ลงทุน 60% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด 36 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,200 ล้านบาท

บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จํากัด (มหาชน) บริษัทที่เกี่ยวกับการลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชยกรรมขนาดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือทีซีซีออกไปลงทุนนอกประเทศไทยแบบเต็มตัวครั้งแรก ด้วยการเข้าซื้อโรงแรม พลาซ่า แอทธินี นิวยอร์ก มูลค่า 7,789 ล้านบาท โดยทางแอสเสทเวิรด์เข้าซื้อหุ้น 100% ของบริษัทพลาซ่า แอทธินี จำกัด ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น 100% ของ บริษัท พลาซ่า แอทธินี โฮเต็ล จำกัด

นอกจากนี้ ในอนาคตอาจจะมีโครงการอะไรตามมาอีกก็เป็นไปได้ เพราะทั้ง 2 บริษัทที่กลายเป็นของแอสเสทเวิรด์แล้วนั้นเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมแห่งนี้ ทาวน์เฮ้าส์ และแบรนด์พลาซ่า แอทธินีที่มีสิทธิ์ประกอบกิจในสหรัฐ และประเทศไทยรวมไปถึงประเทศอื่น ๆ ยกเว้นประเทศฝรั่งเศส

SC Capital Partners Pte Ltd แม้ว่าจะเป็นบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ แต่ผู้ก่อตั้งและเจ้าของที่แท้จริงคือ คนไทยได้มีการร่วมทุนกับ Abu Dhabi Investment Authority (ADIA) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ Goldman Sachs Asset Management เพื่อเข้าซื้อกิจการโรงแรม และรีสอร์ตทั้งหมด 27 แห่งจำนวนห้องพักรวมกว่า 7,124 ห้องพักในประเทศญี่ปุ่นจาก Daiwa House Industry ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ด้วยมูลค่ารวม 900 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.15 หมื่นล้านบาท

บริษัท เอราวัณ ฮ็อป อินน์ จำกัดซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อโรงแรม 4 แห่งในประเทศญี่ปุ่นรวมมูลค่าประมาณ 1,700 ล้านบาท โดยแยกเป็น 2 โครงการในเมืองโตเกียวในย่าน อิดาบาชิ และย่านอุเอโนะ และอีก 1 โครงการในเมืองเกียวโต รวมไปถึงการทำสัญญาเช่าทรัพย์สินอีก 1 โครงการในย่านอาซากุสะ เมืองโตเกียว โดยทางเอราวัณคาดว่าจะเปิดให้บริการครบทั้ง 4 แห่งภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2567

shutterstock 2413738429

World Medical Alliance Hongkong Company Limited บริษัทย่อยของบริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ในประเทศฮ่องกงเข้าซื้อหุ้นของบริษัท พานาซี เเฟร์วาลทุงส์ จีเอ็มบีเฮช จํากัด 100% ในราคาไม่เกิน 740 ล้านบาท

การเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ ทำให้ทางณุศาศริได้เป็นเจ้าของโรงแรม Panacee Grand Hotel Roemerbad ในประเทศเยอรมัน เพราะว่าบริษัท พานาซี เเฟร์วาลทุงส์ จีเอ็มบีเฮช จํากัดเป็นผู้ถือหุ้น 100% ในบริษัท บาดิชเชอร์ โฮเทลแฟร์วัลทุงส์ จํากัด ซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของโรงแรมดังกล่าว

การเข้าซื้อกิจการโรงแรมในต่างประเทศ ของบริษัทหรือผู้ประกอบการกิจการโรงแรม หรือกลุ่มทุนจากประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มมีมากขึ้นในอนาคต แบบที่เห็นในการเข้าซื้อกิจการธุรกิจค้าปลีกในประเทศต่าง ๆ ของทั้งบริษัทในเครือเซ็นทรัล ทีซีซี และซีพี ซึ่งมีทั้งการซื้อเป็นรายโครงการ และซื้อกิจการของทั้งประเทศนั้น ๆ เลย

การเข้าซื้อธุรกิจโรงแรมหรือรีสอร์ตในต่างประเทศ อาจจะเน้นไปที่ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเยอะ และสามารถปรับราคาห้องพักขึ้นได้ต่อเนื่อง อีกทั้งการลงทุนโรงแรมหรือรีสอร์ตใหม่ในบางประเทศอาจจะทำได้ยากในปัจจุบัน ด้วยราคาที่ดินที่สูง หรือที่ดินสำหรับการพัฒนาโรงแรมอาจจะมีไม่มากนัก หรือไม่เหลือแล้ว โดยเฉพาะประเทศในยุโรปที่มีขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่มาก

กิจการโรงแรมในหลายประเทศอาจจะมีปัญหาต่อเนื่องหรือสะสมมาจากช่วงโควิด-19 แบบที่เกิดในประเทศไทย แล้วมองหานักลงทุนหรือคนที่มีความพร้อมเข้าไปซื้อกิจการพอดี ประกอบกับกลุ่มทุนจากประเทศก็ต้องการขยายการลงทุนออกไปนอกประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าของบริษัทให้มากขึ้น แต่การลงทุนในประเทศไทยก็ยังคงมีอยู่ควบคู่กันไปเช่นเดิม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่