COLUMNISTS

‘ขาดธาตุเหล็ก’ อาการเป็นอย่างไร ภาวะซีดจากโลหิตจาง กินอะไรดี?

Avatar photo
Longevity Inspirationist ผู้เชี่ยวชาญสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการรักสุขภาพ

“ขาดธาตุเหล็ก” อาการเป็นอย่างไร ภาวะซีดจากโลหิตจาง กินอะไรดี อาหารอะไรบ้างที่ช่วยเติมธาตุเหล็กได้เป็นอย่างดี

อาการขาดสารอาหารในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นอย่างมากต่อสุขภาพเลือด หากเลือดของเราขาดธาตุเหล็กก็สามารถเกิดอาการได้หลากหลาย และมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนหรือโรคแทรกซ้อนได้ด้วยเช่นกัน ทำให้เราต้องใส่ใจเติมธาตุเหล็กให้ร่างกายอย่างสม่ำเสมอ และต้องเรียนรู้เกี่ยวกับอาการธาตุเหล็กเป็นอย่างดีโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาจมีโอกาสขาดธาตุเหล็กได้ง่าย ขาดธาตุเหล็ก อาการเป็นอย่างไร อาหารอะไรบ้างที่ช่วยเติมธาตุเหล็กได้เป็นอย่างดี

ขาดธาตุเหล็ก

อาการขาดธาตุเหล็กเป็นอย่างไร?

อาการขาดธาตุเหล็ก สามารถแสดงออกมาได้ในหลายทาง อาจจะมีความรุนแรงตั้งแต่อาการเบา ๆ ไปจนอาการที่รุนแรง อาการที่สามารถพบได้บ่อยของการขาดธาตุเหล็กจะมีดังนี้

  • เหนื่อยล้า ร่างกายอ่อนแอ อาการขาดพลังงานเป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อยที่สุดของอาการขาดธาตุเหล็ก เนื่องจากธาตุเหล็กมีความจำเป็นอย่างมากในการผลิตฮีโมโกลบิน ซึ่งทำหน้าที่ในการลำเลียงออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อออกซิเจนไม่เพียงพอ ก็ทำให้ร่างกายเหนื่อยล้าได้
  • ผิวซีด เนื่องจากระดับฮีโมโกลบินที่ลดน้อยลง ส่งผลให้ออกซิเจนในเนื้อเยื่อน้อย ทำให้ผิวเปลี่ยนสีกลายเป็นสีซีด
  • หายใจถี่มากขึ้น เนื่องจากความสามารถในการรับออกซิเจนลดน้อยลง ซึ่งอาการเหล่านี้จะพบให้เห็นได้ชัดโดยเฉพาะตอนระหว่างออกกำลังกาย
  • มึนศีรษะหรือวิงเวียนศีรษะ เกิดขึ้นเมื่อการที่เลือดไม่สามารถส่งออกซิเจนได้เพียงพอ อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะได้ โดยเฉพาะตอนลุกที่เร็วจนเกินไป
  • มีอาการปวดหัว อาจมีอาการปวดหัวตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงขั้นรุนแรง
  • เล็บเปราะ การขาดเหล็กจะทำให้เกิดอาการเล็บเปราะบางลงได้ และอาจทำให้มีรูปล่างผิดปกติได้
  • เท้าเย็นหรือมือเย็น การที่ระบบไหลเวียนเลือดและการส่งออกซิเจนของฮีโมโกลบินไปยังเนื้อเยื่อส่วนปลายลดลง ก็อาจส่งผลทำให้มือเย็น หรือเท้าเย็นได้

อาการของภาวะขาดธาตุเหล็กในแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป ทางที่ดีที่สุดคือการปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ เพื่อการรักษาอาการที่เห็นผลมากที่สุด

ภาวะแทรกซ้อนจากการขาดธาตุเหล็ก มีอะไรบ้าง?

หากไม่ดูแลอาการขาดธาตุเหล็ก ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการขาดธาตุเหล็กได้ ดังนี้

  • โรคโลหิตจาง การขาดธาตุเหล็กเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของภาวะโลหิตจาง ซึ่งภาวะโรคโลหิตจางนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไม่มีเซลล์เม็ดเลือดแดงหรือฮีโมโกลบินที่เพียงพอที่จะเข้าไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ ทำให้มีอาการของภาวะโลหิตจาง เช่น อ่อนแรง ผิวซีด วิงเวียนศีรษะ หายใจไม่สะดวก หากไม่ได้รับการดูแลรักษาก็อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้
  • ปัญหาสุขภาพหัวใจ การขาดธาตุเหล็กจะเพิ่มความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด อาจทำให้เกิดภาวะเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจโต และหัวใจล้มเหลวได้
  • ปัญหาระบบภูมิคุ้มกัน อาจทำภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อและเจ็บป่วยได้ง่าย เพราะธาตุเหล็กเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
  • โรคขาอยู่ไม่สุข (Restless Leg Syndrome) การขาดธาตุเหล็กจะมีความเกี่ยวข้องกับภาวะโรคขาอยู่ไม่สุข ซึ่งอาการของมันจะเป็นความผิดปกติทางระบบประสาทที่มีลักษณะเฉพาะ คือรู้สึกไม่สบายขา และมีความอยากขยับขาโดยที่ห้ามไม่ได้ โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
  • มีความเสี่ยงมากขึ้นจากการเป็นพิษจากสารตะกั่ว การขาดธาตุเหล็ก อาจทำให้ร่างกายดูดซึมสารตะกั่วจากสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น และพิษจากสารตะกั่วก็มีความร้ายแรงอย่างมากเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดความเสียหายของระบบประสาท ปัญหาด้านพัฒนาการและปัญหาทางพฤติกรรม
  • การรับรู้บกพร่อง อาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ อาจทำให้สมาธิสั้น ความจำแย่ลง และเสี่ยงต่อภาวะโรคอัลไซเมอร์ได้

ขาดธาตุเหล็ก

ขาดธาตุเหล็ก กินอะไรดี?

หากร่างกายขาดธาตุเหล็ก เราสามารถหาธาตุเหล็กได้จากอาหารหลากหลายชนิด ซึ่งควรรับประทานอาหารเหล่านี้ให้หลากหลาย ครบ 5 หมู่ เช่น

  • ผักที่มีธาตุเหล็กสูง : ผักโขม ผักเคล ผักคะน้าฝรั่ง ผักชาร์ด มันเทศ มันหวาน บร็อคโคลี กะหล่ำดาว ผักกวางตุ้ง หน่อไม้ฝรั่ง
  • ผลไม้ที่มีธาตุเหล็กสูง : สตรอวเบอร์รี ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวทุกชนิด แตงโม ลูกพรุน อินทผลัม ลูกเกด มะเดื่อ แอปริคอต ลูกพีช
  • เนื้อสัตว์และไข่ ที่มีธาตุเหล็กสูง : ตับ เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อแกะ ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน กุ้ง หอย เป็นต้น
  • ถั่วและอาหารอื่น ๆ ที่มีธาตุเหล็กสูง : เต้าหู้ ถั่ว มะเขือเทศ ถั่วเลนทิล ถั่วนัตโตะ ขนมปัง ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต เป็นต้น

ธาตุเหล็ก ปริมาณที่ควรได้รับสำหรับวัยทองและวัยสูงอายุ

  • ผู้ชายวัย 19-50 ปี ควรได้รับธาตุเหล็ก 8 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ผู้หญิงวัย 19-50 ปี ควรได้รับธาตุเหล็ก 18 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ผู้ใหญ่วัย 51 ปีขึ้นไป ควรได้รับธาตุเหล็ก 8 มิลลิกรัมต่อวัน

ธาตุเหล็ก แร่ธาตุจำเป็นที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะวัยสูงอายุ ยิ่งอายุมาก ก็มีความเสี่ยงที่ร่างกายจะขาดธาตุเหล็กได้มาก เพราะฉะนั้น ในวัยสูงอายุมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องได้รับธาตุเหล็กอย่างน้อย 8 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งสามารถเติมธาตุเหล็กให้ร่างกายผ่านการทานอาหารเสริม หรือการทานอาหารทั่วไปตามที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น หากมีอาการขาดธาตุเหล็ก ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้ปัญหาภาวะขาดธาตุเหล็ก

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ @healthytalkbylee

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่