Digital Economy

ETDA ตั้งเป้าใหญ่ ดัน Digital Economy สู่ 25% ของจีดีพี

ETDA (2)
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี

ETDA เปิดตัวเลขการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจากอะนาล็อกสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบผ่านงาน “Future Economy and Internet Governance : Big Change to Big Chance” ตั้งเป้าทำให้สัดส่วนของ Digtial Economy เป็น 25% ของจีดีพี ด้านกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเผยจะเร่งผลักดันกฎหมายดิจิทัลให้เสร็จภายในปีนี้

โดยพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เผยในงานสัมมนาดังกล่าวว่า เทคโนโลยีกำลังทำหน้าที่ขับเคลื่อนโลกยุคใหม่ เกิดความสะดวกสบาย การใช้จ่ายมากขึ้น ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เป็นตัวสร้างจีดีพีให้กับประเทศถึง 2.56 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา และมีผู้เข้าร่วมการค้าขายออนไลน์ในทุกระดับ ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ เอสเอ็มอี และผู้ประกอบการระดับชุมชน เหล่านี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า เราสามารถใช้ประโยชน์จากธุรกิจดิจิทัลนี้ได้แน่นอน

รองนายกรัฐมนตรีเผยว่า การเติบโตนี้ต้องการการพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน แต่ปัญหาคือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทยเป็นการซื้อเข้ามาใช้งาน เป็นส่วนใหญ่ ความท้าทายจึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันทำให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง และสร้างงานขึ้นมารองรับผู้พัฒนาธุรกิจเหล่านั้น โดยอาจนำร่องในพื้นที่เช่น EEC, เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือสมาร์ทซิตี้

pichet etda2
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์

ด้าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเผยบนเวทีดังกล่าวว่า ปัจจุบัน สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การค้าออนไลน์เข้ามามีบทบาทอย่างมาก ร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับดิจิทัลจึงต้องเร่งให้เกิดการบังคับใช้ โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการผลักดันให้ประกาศใช้ได้ภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนั้น ดร.พิเชฐยังเผยด้วยว่า สิ่งที่กระทรวงดิจิทัลฯ ตั้งใจจะทำให้เสร็จภายในช่วงเวลาที่เหลือนี้ ประกอบด้วย

ทดสอบการใช้ 5G

ทั้งนี้ ดร.พิเชฐเผยว่า อาจต้องใช้เวลา 1 – 2 ปีเลยทีเดียว มาตรฐาน 5G จึงจะเสถียร ดังนั้น กระทรวงดิจิทัลฯ จึงต้องมองว่าต้องมีการสร้างสนามทดสอบ 5G และแอพพลิเคชันต่าง ๆ ควบคู่กันไป เช่น ไปตั้งแล็บวิจัย 5G ที่ศรีราชา โดยอาจมีการประสานงานกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และนำแอพพลิเคชันต่าง ๆ เข้ามาทดสอบการใช้งาน 5G

ตั้งหน่วยงาน SDU ให้บริการกระทรวงต่าง ๆ ด้านดิจิทัล

กระทรวงดีอีฯ เริ่มสร้างหน่วยงาน SDU (Service Delivery Unit) หรือก็คือหน่วยงานเล็ก ๆ ที่คล่องตัวเป็นพิเศษสำหรับไปให้บริการกระทรวงต่าง ๆ ของประเทศไทยในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่แต่ละหน่วยงานมีความเข้าใจแตกต่างกัน โดย SDU นี้จะเข้าไปช่วยหน่วยงานภาครัฐใน 3 ด้านได้แก่ บิ๊กดาต้า, ดาต้าเซนเตอร์ และคลาวด์ โดยกระทรวงดีอีเชื่อว่าจะช่วยลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน และงบประมาณ รวมถึงสามารถติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยให้ทุกกระทรวงเป็นมาตรฐานเดียวกันในทีเดียว

แผนสร้างไซเบอร์พอร์ท

โดย ดร.พิเชฐเผยว่า ไซเบอร์พอร์ทจะเป็นศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพขนาดใหญ่ของไทย โดยนอกจากฟินเทคแล้ว อาจเน้นไปที่สตาร์ทอัพกลุ่ม AgTech, TourismTech หรือ HealthTech เป็นหลัก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีพื้นฐานแข็งแกร่ง และสามารถตอบโจทย์ภาคการผลิตได้ สำหรับที่มาของไซเบอร์พอร์ทนั้น ดร.พิเชฐเผยว่า มาจากการได้เห็นการเติบโตของสตาร์ทอัพไทยที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินอย่างเพียงพอ รวมถึงบรรดานักลงทุนที่ยังไม่เปลี่ยนความคิด โดยจะรอจนกว่าจะแน่ใจว่าสตาร์ทอัพนั้นไปรอดแล้วจึงจะนำเงินมาลงทุน ซึ่งในจุดนี้ ดร.พิเชฐมองว่าจะต้องมีการปรับ Mindset กันพอสมควร อุตสาหกรรมนี้จึงจะไปรอด

นอกจากนั้น รัฐบาลยังมีแผนจะดึงสตาร์ทอัพจากต่างแดนเข้ามาในประเทศไทย เพื่อผสมผสานแนวคิดแบบ Global ให้เกิดในกลุ่มสตาร์ทอัพด้วย

ขยายสมาร์ทซิตี้เพิ่ม

โดยมีสองจังหวัดที่อยู่ระหว่างการพิจารณา นั่นคือ เชียงใหม่ – ขอนแก่น แต่จะเน้นคนละด้านกับสมาร์ทซิตี้ที่จังหวัดภูเก็ต โดยเชียงใหม่อาจเน้นไปที่ด้าน Wellness ส่วนขอนแก่นอาจเน้นไปที่ด้านอาหาร – เกษตรกรรม เป็นต้น

เปิดภัยยุคดิจิทัล

etda ghai
นายโรหิต กาย ประธาน RSA

การจะเข้าสู่ยุคดิจิทัล นอกจากตัวเลขการเติบโตของภาคเศรษฐกิจที่สวยหรูแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีภัยคุกคามซ่อนอยู่เช่นกัน ในจุดนี้ นายโรหิต กาย (Rohit Ghai) ประธานของ RSA บริษัทด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ได้เผยบนเวทีดังกล่าวว่า ดิจิทัลเองก็มีด้านมืดอยู่เช่นกัน และจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยป้องกันความเสี่ยง โดยนายกายได้ยกตัวอย่างความเสี่ยงของธุรกิจเรือเดินทะเล ที่ในอดีตอาจเป็นความเสี่ยงด้านสภาพอากาศที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ปัญหาเรื่องลูกเรือ ฯลฯ แต่ในปัจจุบัน ปัญหาเหล่านั้นได้ถูกขจัดออกไปแทบจะหมดสิ้นแล้ว ความเสี่ยงของธุรกิจเรือเดินทะเลในปัจจุบันจึงมีเพียงอย่างเดียวคือ การถูกเจาะระบบ และบังคับเรือออกนอกเส้นทาง

“ในวันที่โลกทั้งโลกเข้าสู่ดิจิทัล ความเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุดก็คือดิจิทัลนั่นเอง” นายกายกล่าว

โดยความเสี่ยงจากดิจิทัลนี้ ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องจับมือกัน เพราะหากมีใครสักคนปล่อยให้เกิดช่องโหว่ อาจหมายถึงการถูกเจาะระบบได้ทั้งหมด ดังนั้น ในมุมของ RSA การป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์จึงต้องทำเหมือนทีมกีฬาที่รวมผู้เล่นเก่ง ๆ มาไว้ด้วยกัน และต่อกรกับภัยคุกคามเป็นทีม

ปิดท้ายกับนางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ออกมาเผยถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยที่แม้จะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและคิดเป็นมูลค่ามหาศาลนั้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกแล้ว ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่นำหน้าไทยไปอย่างไม่เห็นฝุ่น

etda
การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

หนึ่งในนั้นคือจีนแผ่นดินใหญ่ที่ข้อมูลในปี 2559 พบว่าอีคอมเมิร์ซเติบโตถึง 86% รองลงมาคืออินเดียที่โตถึง 34% สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่โตถึง 15% ส่วนในภูมิภาคอาเซียนก็เติบโตรวมกันถึง 29% เช่นกัน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความโดดเด่นของอีคอมเมิร์ซจีน ทำให้ ETDA มองว่าอาจมีการจับมือเป็นพันธมิตรกับจีน ผ่านอีคอมเมิร์ซพาร์ค รวมถึงการผลักดันให้คนรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมามีบทบาทในการบริหารองค์กรมากขึ้น โดยคาดว่าจะทำให้เป้าหมายของแผนดิจิทัลในประเทศไทยเป็นจริงได้สำเร็จ (ทำให้สัดส่วนของ Digtial Economy เป็น 25% ของจีดีพี)

สำหรับการจัดงานดังกล่าวคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 5,000 คน และมีหัวข้อสัมมนากว่า 30 หัวข้อตลอด 3 วัน โดยสามารถติดตาม และทราบรายละเอียดของงานได้ที่เว็บไซต์ของ ETDA

Avatar photo