Environmental Sustainability

‘เอ็นวิคโค’ หวังอย. ไฟเขียวขวด PET รีไซเคิล ต้นปีหน้า วอนรัฐออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์รีไซเคิล

เอ็นวิคโค เครือ GC หวัง อย. อนุมัติใช้ขวด PET รีไซเคิล ในเครื่องดื่มต้นปีหน้า ดันยอดขายแตะพันล้าน พร้อมช่วยผู้ประกอบการรับมือยุโรป ยกประเด็นรีไซเคิล-ภาษีคาร์บอน สินค้าส่งออก

นายณัฐนันท์ ศิริรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด เปิดเผยว่า เอ็นวิคโค เป้นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และ แอลพลา จำกัด (ALPLA) ผู้นำระดับโลกในธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกและพลาสติกรีไซเคิล เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ระดับ Food Grade มาตรฐานระดับโลก โดยเริ่มผลิตแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา

ENVICCO 3

ทั้งนี้ โรงงานเอ็นวิคโค ใช้งบลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสูงถึง 4.5 หมื่นตัน/ปี แบ่งเป็นกำลังการผลิตเม็ดพลาสติก ชนิด rPET หรือขวด PET รีไซเคิล จำนวน 3 หมื่นตัน/ปี และเม็ดพลาสติก ชนิด rHDPE จำนวน 1.5 หมื่นตัน/ปี

ล่าสุด เอ็นวิคโค ได้ยื่นเรื่องขอผลิตเม็ดพลาสติกจาก PET รีไซเคิล เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ผลิตขวดน้ำดื่ม และเครื่องดื่มได้ โดยคาดว่าจะได้รับการอนุมัติภายในไตรมาส 1/2566 ซึ่งจะทำให้สามารถขยายตลาดเม็ดพลาสติก ชนิด rPET ได้มากขึ้นในประเทศ จากปัจจุบันที่ยังไม่สามารถทำได้

นอกจากนี้ ยังคาดว่า หาก อย. อนุมัติการใช้เม็ดพลาสติก rPET จะส่งผลให้รายได้ของบริษัท เพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทในปีหน้า โดยขณะนี้มีบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่ม พร้อมนำเม็ดพลาสติก rPET ไปใช้การผลิตแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ราย

21FD84D4 AA3E 411E 9396 74BBF9B9DAEA 0
ณัฐนันท์ ศิริรักษ์

ที่ผ่านมาในต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรป มีการอนุมัติให้ใช้ขวด rPET มานานนับ 20 อีกทั้งในปีหน้า ยุโรปจะประกาศให้ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปยุโรป ต้องมีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์รีไซเคิล 25% และการใช้ภาษีคาร์บอน จัดเก็บภาษีสินค้าส่งออกตามปริมาณการปลอดปล่อยคาร์บอน

ดังนั้น การใช้ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกรีไซเคิล จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ผลิตไทย โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออกต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถรองรับมาตรการทางการค้าดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สินค้ารีไซเคิลในประเทศไทย ยังมีอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ซึ่งส่งผลให้ขวดพลาสติกรีไซเคิล มีราคาสูงกว่าขวดพลาสติกผลิตใหม่ 20-30% รวมถึงค่าตรวจสอบรับรองมาตรฐานที่ต้องใช้บริษัทจากต่างประเทศ และมีค่าใช้จ่ายสูง

17BE23FD BA6B 4BD1 A7F0 B304FBBFE1BB

ดังนั้น จึงเห็นว่า ภาครัฐควรเข้ามาสนับสนุนผลิตภัณฑ์รีไซเคิล เช่น การมีหน่วยงานสำหรับตรวจสอบ รับรอง เพื่อช่วยผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่าย การออกมาตฐานผลิตภัณฑ์รีไซเคิล เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค รวมถึงการออกแคมเปญเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแยกขยะ และใช้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลมากขึ้น

ขณะที่ในส่วนของ เอ็นวิคโค เอง จะเดินหน้าแก้ปัญหาด้านต้นทุนโลจิสติกส์ เช่น การขยายจุดรับขวดพลาสติกเพื่อนำมารีไซเคิล อาทิ ในออฟฟิศขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัย รวมถึงการสนับสนุนชุมชนให้รวบรวมพลาสติกมาส่งโรงงานเพื่อสร้างรายได้ในชุมชน เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo