Environmental Sustainability

แบงก์ชาติหนุนภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ ‘ESG’

“ธปท.” กระตุ้นภาคธุรกิจให้ความสำคัญ “ESG” แนะผู้บริหารกำหนดนโยบายให้ชัด เริ่มลงมือทำด้วยองค์ความรู้ที่จำเป็นและเพียงพอ เผยแบงก์พาณิชย์พร้อมหนุนเงินทุนเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนา “UNLOCKING ESG VALUE FOR BUSINESS SUCCESS” จัดโดย “สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย” ว่า ประเทศไทยมีความจำป็นต้องยกระดับธุรกิจไทยเพื่อรับมือ Climate Change  ปัจจุบันภาคธุรกิจกำลังเผชิญแรงกดดัน จากสภาพอากาศแปรปรวนมากขึ้น นโยบายการค้าในต่างประเทศเข้มงวดมากขึ้น และ Brown Industry ในไทยยังมีอยู่มาก ภาคอุตสาหกรรมประมาณ 30% ของจีดีพี ไม่รองรับกระแสความยั่งยืน

ทั้งนี้ ธุรกิจขนาดใหญ่ หรือ ขนาดเล็ก จะต้องมีความพร้อมใน 3 เรื่อง คือ ผู้บริหารธุรกิจต้องมีนโยบายชัดเจน ตระหนักถึงความสำคัญ  ความจำเป็นในการปรับตัว และ เริ่มลงมือทำ ขณะเดียวกันต้องมีองค์ความรู้ที่จำเป็น และเพียงพอ ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์บริษัทที่ปรับตัวแล้ว จนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน สถาบันการเงินพร้อมสนับสนุนการปรับตัว

ESG

แม้ว่า Net Zero จะมีเวลาอีกยาว แต่ธุรกิจไทยต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ ทั้งการปรับตัวของรถยนต์ไปสู่รถไฟฟ้า และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเห็นตัวอย่างภาคธุรกิจที่ปรับตัวแล้ว เช่น กรณีของการประหยัดพลังงาน เป็นต้น ซึ่งธุรกิจทั่วไปต้นทุนค่าไฟเป็นต้นทุนที่สูง มีต้นทุนค่าไฟสูงถึง 6-8% ของรายได้ จึงเห็นหลายธุรกิจเริ่มปรับตัว ใช้เครื่องปรับอากาศที่ประหยัดไฟ

นายรณดล กล่าวว่าปีที่ผ่านมาธปท. ขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่ช่วยสนับสนุนเงินทุน เพื่อการเปลี่ยนผ่านเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม ธปท.คาดว่าธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ จะสามารถประกาศแนวทางการดำเนินการไตรมาส 3 ปีนี้

ESG
รณดล นุ่มนนท์

ช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์มีความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน  ในปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ปล่อยสินเชื่อกรีนโลนประมาณ 190,000 ล้านบาท คิดเป็น 1.4% ของสินเชื่อทั้งระบบ ถือว่ายังเป็นจำนวนที่น้อยอยู่เมื่อเทียบกับจำนวนสินเชื่อทั้งระบบ แต่เห็นถึงการขยายตัวมากขึ้น ส่วนการออกตราสารหนี้กรีนบอนด์ อยู่ที่ 882 พันล้านบาท คิดเป็น 5% ของยอดการออกตราสารหนี้ทั้งหมด

ประกอบกับ ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีเป้าหมาย Net Zero ด้วย ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อเงินทุนเพื่อความยั่งยืนสินเชื่อสีเขียวในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายที่เกี่ยวข้อง เช่น สินเชื่อธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาด สินเชื่อที่เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการออกเกณฑ์บอนด์ให้กับภาคธุรกิจ

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight