POLITICS-GENERAL

‘วิโรจน์’ สับเละ ‘งบกลาโหม’ อัด ‘สุทิน’ เป็นหุ่นเชิดสานต่อ ‘ประยุทธ์’

“วิโรจน์” สับเละ “งบกลาโหม” จับตางบฯซื้อเครื่องบินขับไล่ ทอ.1.95 หมื่นล้าน อัด “สุทิน” เป็นหุ่นเชิดสานต่อ “ประยุทธ์”

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท วาระแรก ต่อเนื่องเป็นวันที่2 ในส่วนของงบประมาณกระทรวงกลาโหม ว่า ที่ผ่านมาพบว่ากระทรวงกลาโหม มีอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนในระดับที่ต่ำมากๆ และต่ำอย่างน่าเป็นห่วง โดยข้อมูลวันที่ 7 มิถุนายน 2567 พบว่าอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนงบปี 67 ของกระทรวงกลาโหมอยู่ที่ 17.67% กองทัพบกงามไส้ที่สุด 4.89% เข้าใจว่าวันนี้น่าจะดีขึ้นแต่น่าจะไม่ถึง 20% กองทัพเรือ 23.24% กองทัพอากาศ 11.73% ซึ่งปีงบประมาณ 67 ที่เหลืออีก 3 เดือนจะเบิกจ่ายทันได้อย่างไร เป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนที่ย่ำแย่มากๆ สะท้อนถึงอาการโรคที่ไม่ตั้งใจส่งเสริมความมั่นคงประเทศให้สอดรับกับบริบทภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก

งบ 2

นายวิโรจน์ กล่าวว่า อัตราการเบิกจ่ายงบของกองทัพเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน สุดท้าย นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็มาระดมเปิดใบสั่งซื้อในช่วงท้ายปีงบประมาณ ท่ามกลางข่าวหนาหูว่าที่ล้าช้าอาจเป็นเพราะต้องใช้เวลาไปกับการเรียกรับเงินทอนกับบริษัทโบรกเกอร์ที่ทำหน้าที่ซื้ออาวุธมาแล้วก็ขายไป ยานเกราะที่ซื้อมาใช้ได้ซักพักก็จอดซ่อมนานแรมปี เพราะต้องรออะไหล่ เป็นปัญหาเดิมๆ ที่กองทัพก็รู้ๆ กันอยู่ แต่ก็ไม่ยอมซื้อยานเกราะที่ผลิตโดยผู้ผลิตอาวุธภายในประเทศ ทั้งที่โรงงานเหล่านั้นเคยผลิตส่งขายต่างประเทศทั่วโลกและขายให้กับสหประชาชาติด้วยซ้ำ มีอะไหล่ และวิศวกรที่รอซ่อมบำรุงให้กองทัพอย่างทันท่วงที ขาดแต่ว่าไม่มีสำรองเงินทอนไว้ปรนเปรอนายพลเท่านั้นเอง

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า นายทหารระดับสูง และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทราบดีว่าอุปสรรคสำคัญที่ทำให้กระทรวงกลาโหมขาดงบประมาณในการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพก็คืองบบุคลากรที่มีสัดส่วนที่สูงมาก จนกองทัพไม่มีเงินเหลือพอที่จะลงทุนด้านความมั่นคง ไม่มีเงินที่จะซื้อเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่ทันสมัยที่เห็นภัยความมั่นคงในรูปแบบใหม่เกิดขึ้นตรงหน้า ถ้าดูงบบุคลากรในภาพรวมของกระทรวงกลาโหม แม้ว่าจะลดลง แต่ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากการปรับปรุงโครงสร้างภายในกระทรวงเลย โดยงบบุคลากรของทั้งกระทรวงลดลงเพียงแค่ 2,519 ล้านบาท ลดลงเพียงแค่ 2.31% แต่ภาพรวมของกระทรวงกลาโหมทั้งกระทรวงกลับได้รับงบประมาณปี 2568 เพิ่มขึ้น 2,603 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.31%

นายวิโรจน์ กล่าวว่า กองทัพบกงบบุคลากรลดลง 2,179 ล้านบาท ลดลง 3.54% แต่ปี 68 งบของกองทัพบกอยู่ที่ 9.605 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 681 ล้าน หรือ 0.71% กองทัพเรืองบบุคลากรลดลง 344 ล้านบาท ลดลง 1.62% แต่ในปี 68 งบของกองทัพเรืออยู่ที่ 4.15 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 507 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.23% กองทัพอากาศ งบบุคลากรลดลง 193 ล้านบาท ลดลง 1.33% แต่ในปี 68 งบของกองทัพอากาศอยู่ที่ 3.69 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 529 ล้านบาท หรือ 1.45% สรุปทุกเหล่าทัพงบเพิ่มขึ้นเรียบวุธ เมื่อเห็นการลดลงของงบบุคลากรแล้วอาจจะนึกดีใจ คิดว่ากองทัพมีการปรับตัว แต่ตนยืนยันว่าการลดแบบนี้เป็นการลดแบบธรรมชาติ ไม่ได้ลดจากการปรับปรุงโครงการสร้างภายในกระทรวงแต่อย่างใด

นายวิโรจน์ กล่าวว่า โครงการเออรี่รีไทร์ทำมาตั้งแต่ปี 2563 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สาเหตุที่ไม่ประสบความสำเร็จคือไม่มีงบที่จะจ่ายให้นายทหารที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งใช้งบแค่ปีละประมาณ 250 ล้านบาท คิดเป็นการจ่ายเงินชดเชยประมาณ 7 เดือน สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเคยส่งเข้า ครม.มาแล้ว แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งในปี 68 ตนตรวจดูไม่พบงบในส่วนนี้ เช่นเดียวกัน แล้วโครงการเออร์ลี่รีไทร์จะประสบความสำเร็จได้อย่างไร ส่วนที่โฆษณาบอกว่าจะลดนายพลลงครึ่งหนึ่ง ต้องอ่านหมายเหตุให้ดี เพราะว่าเป็นการลดจำนวนพลที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้น จากปี 51 ที่มีอยู่มากถึง 162 นาย ปัจจุบันลดลงอย่างต้วมเตี้ยมเหลืออยู่มากถึง 433 นาย กว่าจะเหลือ 384 นาย ตามเป้าหมายต้องรอถึงปี 71 ส่วนนายพลอีก 965 นาย ถ้าไม่คิดจะคิดควบรวมหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนในกระทรวงกลาโหม นายพลทั้ง 965 นายนี้ก็จะดำรงอยู่ต่อไป

นายวิโรจน์ กล่าวว่า สถานการณ์ความมั่นคงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่ ตนคิดว่านายทหารระดับสูง และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รู้ดี คือ สถานการณ์ชายแดนพม่า ซึ่งมีการใช้ระเบิดนำวิถีโจมตีทางอากาศ มีรายงานว่ามีการใช้โดรนพลีชีพ ความถี่ของกิจกรรมที่ผิดกฎหมายในพื้นที่ชายแดน ยาเสพติด ค้ามนุษย์ ค้าของเถื่อนก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่ามีรายงานการใช้โดรนมาใช้ในปฏิบัติการ แต่กองทัพบกให้ความสำคัญต่ำมากๆ แม้ว่าในปีงบประมาณนี้มีโครงการจัดหาอากาศยานไร้นักบินทางยุทธวิธีหรือโดรนก็เป็นการจัดซื้อแค่ 10 ตัว มีกรอบวงเงินเพียงแค่ 700 ล้านบาท สำหรับแอนตี้โดรน เพื่อสกัดโดรนของฝ่ายตรงข้ามก็มีวงเงินจุ๋มจิ๋มเพียงแค่ 540 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณ 68 เพียงแค่ 81 ล้านบาท เท่านั้น สะท้อนถึงการประเมินสถานการณ์ที่ต่ำและล้าหลังมาก และเป็นการจัดงบที่ไม่สะท้อนกับรายงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติเลย เห็นสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นหัวหลักหัวตอ นี่หรือกองทัพที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของประเทศ

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องงบประมาณในโครงการซ่อมแซมและปรับปรุงยุทโธปกรณ์ของกองทัพบก แม้งบประมาณจะเพิ่มขึ้นจาก 2,810 ล้านบาท มาเป็น 2,902 ล้านบาทในปี 68 เพิ่มขึ้น 92 ล้านบาท แต่พอมาพิจารณางบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดหาเงินซื้ออะไหล่ ประกาศว่าถูกปรับลดในปี 68 ให้เหลือแค่ 1,095 ล้านบาท ลดจากปี 67 ถึง 580 ล้านบาท จึงเกิดข้อสงสัยว่าในเมื่องบซื้ออะไหล่ลดลงแล้วจะแก้ปัญหายานเกราะ ยานพาหนะที่ใช้ในยุทธการที่จอดรอซ่อมอยู่จำนวนมากได้อย่างไร จึงเชื่อได้ว่างบที่เพิ่มขึ้น 92 ล้านบาท น่าจะเป็นเพียงการบำรุงรักษาพื้นฐาน ยานเกราะที่จอดรอซ่อมจำนวนมากเพราะรออะไหล่ก็ยังต้องจอดปลูกสะระแหน่ต่อไปใช่หรือไม่ งบซ่อมบำรุงรวมกัน 195 ล้านบาท เทียบกับงบค่ารถประจำตำแหน่งของบรรดานายพลอยู่ที่กว่า 550 ล้านบาท นี่หรือคือการจัดงบประมาณที่คำนึงถึงภัยคุกคาม ตนคิดว่านี่คือการจัดงบเพื่อความกินหรูอยู่สบายของเหล่าบรรดานายพลโดยไม่คำนึงถึงการปฏิบัติงานของเหล่าทหารหาญมากกว่า

448547597 968782661704955 5860115858914811099 n

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ถ้าไม่แก้ไขที่โครงสร้างหน่วยงานภายในกระทรวงกลาโหม ปรับลดอัตราบรรจุข้าราชการให้สอดรับกับบริบทความมั่นคงในโลกยุคใหม่ และภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เพื่อให้งบบุคลากรลดลงอย่างมีนัยสำคัญและยังหลอกตัวเองไปกับการลดลงของงบบุคลกรแบบธรรมชาติต่อไปเรื่อยๆ กองทัพจะไม่มีพื้นที่ทางการคลัง ไม่มีงบประมาณที่เพียงพอต่อการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ ไม่มีงบลงทุนในเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งจะทำให้กองทัพอ่อนแอในระยะยาว มีเพียงความพร้อมในการก่อรัฐประหารและประหัตประหารชีวิตพี่น้องประชาชนเท่านั้นเอง

ทั้งนี้ ในปี 2568 ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการส่งกำลังและซ่อมบำรุงและผลิตเพื่อแจกจ่ายของกองทัพบก สูงถึง 3,904 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 1,286 ล้านบาท ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตทุกปีว่างบก้อนนี้มีอัตราการเบิกจ่ายที่ต่ำ และมักถูกเปลี่ยนแปลงไปจัดซื้ออาวุธประเภทอื่น โดยใช้ระเบียบกระทรวงกลาโหมเป็นเครื่องมือ จึงฝาก กมธ.วิสามัญฯ ติดตามงบก้อนนี้อย่างเข้มงวดด้วย เรื่องนี้ต้องสะกิดบอก รมว.กลาโหม ไว้ด้วย เพราะแม้แต่นายสุทิน ที่เป็น รมว.กลาโหม ก็ได้แต่มองตาปริบๆ เหมือนกัน เพราะระเบียบนี้ในข้อที่ 17 เขียนไว้ว่าเมื่อกองทัพตกลงกับสำนักงบฯ แล้วให้รายงานให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ภายใน 45 วัน หมายความว่าระเบียบนี้อนุญาตให้กองทัพงุบงิบกับสำนักงบฯ ได้ แล้วค่อยมาแจ้งให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทราบในภายหลัง ทำเหมือนเป็นแค่โฆษกกองทัพบก คือรู้ทีหลังแล้วก็ไปชี้แจงด้วยก็แล้วคน คนที่ลงนามในระเบียบนี้เมื่อปี 2563 ไม่ใช่ใคร แต่คือ พล.อ.ประยุทธ์ ตนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นายสุทินจะกล้าแก้ไขระเบียบ ฉบับนี้เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องเป็นหัวหลักหัวตอถูกเปลี่ยนแปลงงบประมาณแบบข้ามหัวอีกต่อไป

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ โครงการที่มีงบผูกพันวงเงินสูงสุดในงบปี 2568 คือโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ทดแทนระยะที่ 1 ของกองทัพอากาศที่มีวงเงินสูงถึง 1.95 หมื่นล้านบาท ผูกพันงบประมานตั้งแต่ปี 2568 – 2572 งวดแรกผูกพันไว้ 15% หรือคิดเป็นมูลค่า 2,925 ล้านบาท ตนเข้าใจความจำเป็นของโครงการนี้ เพราะเครื่องบินขับไล่ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีอายุการใช้งานมาถึง 35 ปีแล้ว แต่ขอร้องไปยังรัฐบาลว่าจะต้องไม่เป็นการเอาเงินภาษีไปแลกมาดื้อๆ ต้องคำนึงถึงนโยบายชดเชยทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ทำให้ประชาชนที่เป็นพลเรือนได้ประโยชน์ร่วมด้วย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการทหาร และการพัฒนาประเทศ ซึ่งหากกระบวนการจัดซื้อเป็นไปอย่างโปร่งใส พรรคก้าวไกลพร้อมสนับสนุน เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับโครงการจัดซื้อเรือฟริเกต

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า สุดท้ายประชาชนควรจะคาดหวังกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าจะสามารถเปลี่ยนผ่านให้กองทัพอยู่ภายใต้พลเรือน แต่ที่ผ่านมา งบประมาณไม่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญได้เลย

รัฐมนตรีพลเรือนกลับเป็นเพียงหุ่นเชิด เป็นโฆษกคอยแก้ต่างให้กองทัพ ดำเนินโนบายทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ ของ พล..ประยุทธ์ อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง อาจจะทำได้ดีกว่า พล..ประยุทธ์ ทำเองด้วยซ้ำ น่าผิดหวังมากที่คุณสุทินไม่สามารถโอบรับความหวังของประชาชนในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองได้เลยนายวิโรจน์ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo