POLITICS-GENERAL

‘เจิมศักดิ์’ โพสต์ ‘รัฐบาลเศรษฐา : บริหารเศรษฐกิจหรือธุรกิจ’

“เจิมศักดิ์” โพสต์ “รัฐบาลเศรษฐา : บริหารเศรษฐกิจหรือธุรกิจ” พร้อมแนะสิ่งที่ผู้บริหารประเทศต้องพึงสังวร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เผยแพร่บทความเรื่อง “รัฐบาลเศรษฐา : บริหารเศรษฐกิจหรือธุรกิจ” มีเนื้อหาดังนี้… ใต้เงาระบอบทักษิณ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจใหญ่อสังหาริมทรัพย์ ขึ้นบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เห็นความแตกต่างของการบริหารธุรกิจ กับการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ เหมือนที่เคยตั้งข้อสังเกตท้วงติงเมื่อสมัยทักษิณ ชินวัตร นักธุรกิจผูกขาดใหญ่เรืองอำนาจในรัฐบาล การบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ต่างหรือเหมือนกับการบริหารเศรษฐกิจของประเทศให้ประสบความสำเร็จ ?

นายก1

1. การบริหารธุรกิจ มีจุดมุ่งหมายชัดเจนเป็นสำคัญ คือ แสวงหากำไรสูงสุด เรื่องอื่นๆ เช่น ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยดูแลคนจนและคุ้มครองผู้บริโภค เป็นวัตถุประสงค์รองมากๆ จนอาจกลายเป็นวัตถุประสงค์ที่ตกแต่งให้ดูดี

ส่วนการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ มีจุดมุ่งหมายผสม ทั้งการเพิ่มรายได้ให้ประเทศ การกระจายรายได้ กระจายโอกาสความทัดเทียม และสร้างเสถียรภาพของเศรษฐกิจ (ไม่ให้เปลี่ยนแปลงหวือหวา โดยเฉพาะราคาสินค้า ค่าเงิน และการจ้างงาน)

2. การบริหารธุรกิจต้องการขยายส่วนแบ่งตลาดของตน ต้องการครอบครองสัดส่วนของสินค้าในตลาดให้มาก ถ้าได้มีอำนาจเหนือตลาด หรือมีอำนาจผูกขาด ก็จะยิ่งทำกำไรได้มาก

ส่วนการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ต้องการให้มีการแข่งขันของผู้ผลิตมากราย เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคส่วนใหญ่มีทางเลือก ไม่ถูกผูกขาดผูกมัดเป็นเบี้ยล่าง

3. การบริหารธุรกิจต้องลดต้นทุนการผลิต (ตราบที่ไม่ลดประสิทธิภาพการผลิต) ให้มากที่สุด เพื่อหวังว่าจะได้มีกำไรสูงสุด

ส่วนการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ต้องให้การผลิตของประเทศลดต้นทุนมากที่สุด โดยต้องคำนึงถึงหน่วยผลิต ธุรกิจ รายเล็กรายน้อยที่ด้อยโอกาส คนว่างงาน คนที่ขาดโอกาสในการแข่งขัน

4. การบริหารธุรกิจ ต้องพยายามลดและเลี่ยงการจ่ายภาษี ให้จ่ายภาษีแต่เฉพาะที่จำเป็น และน้อยที่สุด การบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ต้องพยายามเก็บภาษีจากผู้มีรายได้และผู้มีความสามารถจ่ายภาษีให้มาก ส่วนคนยากจนและอาชีพบางอย่างที่ต้องการส่งเสริมหรือช่วยเหลือก็ลดหย่อน

5. การบริหารธุรกิจ  ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กับการลดต้นทุนการผลิตของตน ธุรกิจที่ดีก็ให้น้ำหนักต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ น้ำ ที่ดิน และคนรอบข้างมากหน่อย แต่ธุรกิจที่เน้นการลดต้นทุนเพื่อกำไรสูงสุดก็แอบทิ้งทำลายสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง  แล้วโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้มากเพื่อกลบเกลื่อน สร้างภาพ

ส่วนการบริหารเศรษฐกิจของประเทศต้องดูผลตอบแทนรวมของประเทศ ต้องคำนึงและรวบรวมผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งหมด เป็นต้นทุน และต้องคำนึงถึงผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

6. การบริหารธุรกิจจะเลือกผลิตสินค้าและบริการที่มีความต้องการและไม่มีคู่แข่งผลิตมากนัก  เพราะจะทำให้ได้กำไรรวดเร็วและจำนวนมาก การบริหารเศรษฐกิจของประเทศ จะต้องเลือกว่ารัฐจะเข้าทำวิสาหกิจและลงทุนเฉพาะกิจการที่เป็นที่ต้องการของสังคม แต่ธุรกิจเอกชนทำไม่ได้ เช่น กิจการสาธารณูปโภคที่รัฐต้องผูกขาดดำเนินการ หรือใช้อำนาจรัฐในการเวนคืน รอนสิทธิประชาชน หรือเป็นกิจการลงทุนขนาดใหญ่ที่ธุรกิจเอกชนไม่สามารถลงทุนได้

ทั้งนี้ รัฐต้องจำกัดบทบาทวิสาหกิจของรัฐ ไม่ให้ไปดำเนินกิจการแข่งขันกับเอกชน เพราะรัฐมีอำนาจและมีขนาดเงินทุนที่ใหญ่กว่า รัฐจึงพึงส่งเสริมให้เอกชนแข่งขันกันมากๆ และรัฐคอยเก็บภาษีจากผลประกอบการแทน

7. การบริหารธุรกิจสามารถจะเลือกผลิต หยุดผลิต เปลี่ยนสถานที่ผลิต ไม่พอใจที่จะประกอบการประเทศหนึ่งก็ย้ายแหล่งผลิตและประกอบการได้ง่ายกว่า

การบริหารเศรษฐกิจของประเทศไม่สามารถจะย้ายฐานการผลิตได้ง่าย แต่ต้องบริหารภายใต้หน่วยผลิตของเอกชนและสังคมที่เลือกจะประกอบการในขอบเขต เขตแดน และเขตอำนาจของรัฐ การออกกำหนดกฎเกณฑ์และกฎหมายจะต้องระมัดระวังไม่ให้ธุรกิจเอกชนหนีไปลงทุนประกอบการในต่างประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เอาใจธุรกิจเอกชน ทั้งในและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนประกอบกิจการ ใช้ทรัพยากรของประเทศ โดยที่คนทั่วไปในสังคมได้ประโยชน์น้อยนิด

224211782 359740148858192 1525508524482536932 n

สิ่งที่ผู้บริหารประเทศต้องพึงสังวร

  1. ต้องสังวรว่า การบริหารเศรษฐกิจของประเทศต่างกับการบริหารธุรกิจของตัวเอง ทั้งเป้าหมาย ตัวแปร ปัจจัย และตัวละครที่เกี่ยวข้อง
  2. นักบริหารธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง ไม่จำเป็นต้องบริหารเศรษฐกิจได้ดีเสมอไป  เพราะเงื่อนไขแตกต่างอย่างมาก โดยเฉพาะนักธุรกิจที่คุ้นเคยประสบความสำเร็จจากการผูกขาด วิ่งเต้นเกาะอำนาจรัฐ หลีกเลี่ยงซิกแซ็กไม่จ่ายภาษี และใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวก
  3. นักเศรษฐศาสตร์ที่สามารถบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าจะประสบความสำเร็จในการบริหารธุรกิจ และที่ไปลงทุนทางธุรกิจแล้วขาดทุนก็มาก

ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo