General

รู้เท่าทัน ‘กล่องสุ่ม’ ก่อนตกเป็นเหยื่อ แบบไหนผิดกฏหมาย พ.ร.บ.การพนัน เช็กเลย

นิตยสารฉลาดซื้อ ชวนรู้เท่าทัน กล่องสุ่ม ที่กำลังระบาดโลกออนไลน์ เข้าข่ายผิดกฏหมายหรือไม่ พร้อมแนะวิธีตรวจสอบหากต้องการซื้อ

กล่องสุ่ม (Mystery box) คือ กล่องที่มีการนำสินค้าหลายๆ อย่าง คละแบบ/ราคา ใส่ไว้ในกล่อง และมีการนำมาขาย โดยที่ผู้ซื้อไม่ทราบว่าสินค้าในกล่องมีอะไรบ้าง รู้เพียงราคาของกล่องที่ซื้อว่าเท่าไรเท่านั้น

รู้เท่าทัน กล่องสุ่ม

ตามหลักแล้วถือเป็นกลยุทธ์ในการทำการตลาดแบบหนึ่ง เป็นการกระตุ้นยอดขายและทำให้ลูกค้ารู้จักร้านมากขึ้น

ทุกวันนี้หลายคนคงรู้จักกล่องสุ่มมากขึ้น เพราะมีการโฆษณาขายอยู่บนโลกออนไลน์อย่างแพร่หลาย และบวกกับคุณสมบัติของกล่องสุ่มที่ทำให้ผู้ซื้ออย่างเรา ๆ ได้ลุ้นว่าจะได้ของอะไรบ้าง

ทั้งนี้ นับว่าตรงกับนิสัยคนไทยบางส่วน ที่ชอบการเสี่ยงโชค เสี่ยงดวง ทำให้กล่องสุ่มได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว มีอินฟลูเอนเซอร์หรือดาราหลายคนหันมาขายกล่องสุ่ม

แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีข่าวออกมาอยู่เป็นระยะว่า มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่โดนหลอกลวงจากกล่องสุ่ม เนื่องจากมีการชวนเชื่อว่าซื้อไปแล้วในกล่องมีโอกาสได้ของราคาแพง มีโอกาสสร้างกำไรจากกล่องสุ่ม

เสมือนเป็นการพนันขันต่อที่มีทั้งคนได้และคนเสีย จึงเป็นที่สงสัยกันมากว่า ตกลงกล่องสุ่มที่มีอยู่เต็มไปหมดในโลกออนไลน์ เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายไหม

ในประเด็นนี้ หากมองมุมของกฎหมายก็ตอบได้ทันทีว่า การขายกล่องสุ่มเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ผิดกฎหมาย เพราะมีลักษณะเป็นการพนัน

แต่หากกล่องสุ่มนั้นมาในรูปแบบของชิงโชค เช่น ซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า หรือในตลาดออนไลน์ครบ 1,000 บาท ได้บัตรแลกกล่องสุ่มหนึ่งใบ กล่องสุ่มแบบนี้สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องขออนุญาตต่อกรมการปกครอง

shutterstock 1159298755

เช่นเดียวกับพวกลุ้นใต้ฝาเครื่องดื่มชูกำลังในสมัยก่อน หรือร้านค้าที่เปิดให้สอยดาวต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นกลุ่มที่เรียกว่า รับชิงโชค ต้องมีการขออนุญาตทั้งสิ้น เป็นไปตาม มาตรา 8 และมาตรา 12 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478

มาตรา 8 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ระุบุว่า

การจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค โดยวิธีใด ๆ ในการ ประกอบกิจการค้าหรืออาชีพ จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตก่อนจึงจะทำได้”

หากฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50 บาท ขึ้นไปจนถึง 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478

มาตรา 12 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ระุบุว่า

ผู้ใดจัดให้มีการเล่น หรือทําอุบายล่อ ช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวน โดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่น หรือเข้าพนันในการเล่น ซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หรือรับอนุญาตแล้วแต่เล่นพลิกแพลง

หากฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปจนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป จนถึง 5,000 บาท

สรุปได้ว่า การขายกล่องสุ่ม ถ้ามีลักษณะที่ทำให้ผู้ซื้อต้องลุ้นว่าจะได้หรือเสีย กล่าวคือ ของในกล่องสุ่มอาจมีราคาสูง หรือต่ำกว่าเงินที่จ่ายค่ากล่อง เช่นนี้ มีลักษณะเป็นการพนัน การเสี่ยงโชค ผิดกฎหมายพนัน

แต่หากการขายกล่องสุ่ม ของที่อยู่ในกล่องรวมกัน ราคามากกว่าเงินที่ผู้ซื้อจ่ายเพียงแต่ละคนอาจได้ของมูลค่ามากน้อยแตกต่างกันไป เช่นนี้ ถือว่าไม่มีการได้การเสีย ไม่มีลักษณะการพนันสามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม ในมุมกฎหมายการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ก็มีประเด็นเกี่ยวกับการระบุข้อมูลของสินค้าที่อยู่ในกล่องสุ่ม ซึ่งพบว่า ที่ผ่านมาบางร้านขายกล่องสุ่ม โดยกล่องสินค้ามีเพียงการแจ้งประเภทสินค้า เช่น เครื่องสำอางหรือของใช้ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดสำคัญของสินค้า ทั้งฉลากและราคา

คุ้มครองผู้บริโภค

ลักษณะดังกล่าว ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน เนื่องจากผู้บริโภคควรได้รับข้อมูลที่เพียงพอก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าไม่ตรงปก หรือไม่ครบตามที่มีการโฆษณา

ดังนั้นในฐานะผู้บริโภคเวลาจะซื้อสินค้าหรือบริการใด ก็ต้องตรวจสอบข้อมูลผู้ขาย ดูรีวิว คอมเม้นท์ และหลีกเลี่ยงสินค้าที่มีความเสี่ยง รวมถึงการต้องรู้เท่าทัน กล่องสุ่ม อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาจ่ายน้อยได้มาก เพราะส่วนมากคือเป็นกลโกงของมิจฉาชีพเพื่อหลอกเอาเงินเรา

เราควรใช้เงินอย่างคุ้มค่า เพื่อให้ได้มาซึ่งของที่เราต้องการจริง ๆ มากกว่าการซื้อสินค้าอย่างกล่องสุ่ม ที่ไม่รู้จะได้อะไรมา ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และโดนหลอกจนสูญเงินอย่างเปล่าประโยชน์

ที่มา: นิตยสารฉลาดซื้อ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo