General

‘อัยการ’ ชี้จุดสำคัญของคดีเรือน้ำมันเถื่อน เตรียมขึ้น ฮ. ลงพื้นที่เอง

อัยการจ่อสอบกต.-กรมศุลกากร คดีเรือน้ำมันเถื่อน ชี้มีจุดสำคัญที่ต้องชัดเจน เตรียมขึ้น . ลงพื้นที่เอง

นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน เปิดเผยถึงกรณีจับกุมเรือบรรทุกน้ำมันเถื่อน 3 ลำ ว่า จากการประชุมหารือร่วมกับพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ที่นายอำนาจ เจตเจริญรักษ์ อัยการสูงสุด (อสส.) แต่งตั้ง โดยมีตนและอัยการเข้าร่วมสอบสวน และได้ข้อสรุปว่าจุดของการจับกุมเป็นจุดสำคัญ เพื่อต้องทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏชัด คือ มีการกระทำความผิดหรือไม่ และใครเป็นผู้กระทำความผิด ในประเด็นนี้ตนไม่กังวล เพราะมีคนที่อยู่ในเรือ 28 คน เราได้สืบสวนขยายผลว่าใครสั่งการ ใครเป็นเจ้าของเรือ เรื่องนี้ไม่ยาก

สำคัญ

“แต่ประเด็นตำแหน่งที่ถูกจับกุม เราไม่แน่ชัดว่าจุดที่จับกุมเป็นบริเวณใด เพราะในสำนวนสอบสวน ระบุว่า อยู่แถวแท่นขุดเจาะน้ำมันปิโตรเลียมจัสมิน ตรงนี้คาบเกี่ยวระหว่างทะเลไทยกับน่านน้ำสากล เรามีอำนาจดำเนินการในระยะ 12 ไมล์ทะเล ดังนั้นต้องหาความชัดเจนตรงนี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้นอาจเป็นข้อต่อสู้ว่าไม่ได้เข้ามาในเขตน่านน้ำไทย เพราะข้อหาที่ฝ่ายจับกุมตั้งมาเป็นข้อหาพยายามทำผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ ในการนำน้ำมันเข้าโดยไม่ผ่านศุลกากร หรือตามพ.ร.บ.สรรพสามิต การตั้งข้อหาพยายามกระทำความผิด หมายความว่าต้องมีการลงมือแล้วและทำไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นหลักฐานข้อเท็จจริงต้องปรากฏว่าผู้กระทำผิดกำลังจะเอาน้ำมันเข้ามาขายในไทย แล้วก็โดนจับได้” นายวัชรินทร์ กล่าว

นายวัชรินทร์ ระบุว่า สัปดาห์หน้าตนจะสอบสวนกรมสนธิสัญญาและกฎหมายของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นผู้ชี้ให้รู้ว่าจุดดังกล่าว อยู่ในเขตไหน อย่างไร รวมถึงการสอบสวนกรมศุลกากร กับฝ่ายกฎหมายอย่างละเอียดและพยานแวดล้อมต่างๆ จากนั้นในต้นเดือนหน้า (ก.ค.67) ตนจะประสานกับตำรวจน้ำหรือกองทัพเรือ นั่งเฮลิคอปเตอร์ไปดูทะเลจุดจับกุมด้วยตนเอง เพื่อพิสูจน์การทำผิดของผู้ต้องหา

“ต้องยอมรับว่าคนจับกุมกับคนสอบสวนเป็นคนละชุดกัน ฝ่ายจับกุมอาจจะรู้ข้อมูลชัดเจน แต่ฝ่ายสอบสวนไม่ได้ร่วมจับกุมด้วย จึงยังไม่รู้เลยว่าจุดที่จับกุมอยู่ตรงไหนแน่ เรากลัวเป็นข้อต่อสู้ในภายหลัง ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ถือว่าเป็นจุดตายของคดีเลย แล้วสำนวนนี้ต้องนำเสนอท่านอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นผู้สั่งคดี เนื่องจากเป็นคดีนอกราชอาณาจักร เพราะฉะนั้นเราต้องสอบและทำสำนวนโดยละเอียด รัดกุม ถ้าเสนอสำนวนขึ้นไป อสส.ต้องตั้งคำถามเรื่องจุดจับกุม หรืออำนาจจับกุม ซึ่งอาจจะอยู่นอกน่านน้ำไทยก็จริง แต่เป็นเขตที่สามารถจับกุมได้โดยศุลกากร ประเด็นจุดจับกุมจึงสำคัญมาก หากนอกเขตที่เรามีอำนาจจับกุมจะกลายเป็นว่าไม่มีความผิด” นายวัชรินทร์ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo