General

สผ. เตรียมการเข้ม! ร่วมประชุม 21-31 ก.ค. ดัน ‘ภูพระบาท’ เป็นมรดกโลก

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เตรียมนำคณะผู้แทนไทย ร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ระหว่างวันที่ 21-31 กรกฎาคมนี้ ผลักดัน “ภูพระบาท” ขึ้นทะเบียนมรดกโลก

นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 21-31 กรกฎาคมนี้ คณะผู้แทนไทย ประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิสงขลาสู่มรดกโลก จะเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรม และทางธรรมชาติ เป็นเลขานุการคณะ

ภูพระบาท

ขณะที่ นายประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการ สผ. กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้ คณะผู้แทนไทยจะเข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์การประชุม  โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญต่อไทย ที่จะพิจารณาช่วงวันที่ 26-29 กรกฎาคม จำนวน 2 เรื่อง

พิจารณาบรรจุเหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก

การดำเนินการนำเสนอแหล่งดังกล่าว เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 โดยพื้นที่นำเสนอประกอบด้วย 4 พื้นที่

  • เมืองโบราณพังยาง เมืองโบราณพะโคะ และเมืองโบราณสีหยัง
  • เมืองโบราณสทิงพระ
  • เมืองป้อมค่ายซิงกอร่า ณ เขาแดง และแหลมสน
  • เมืองเก่าสงขลา บ่อยาง

ภูพระบาท

ทั้งนี้ ขั้นตอนภายหลังจากคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาให้การรับรอง ไทยจะสามารถจัดส่งเอกสารนำเสนอเป็นแหล่งมรดกโลกต่อคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อพิจารณาได้

พิจารณาขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” เป็นมรดกโลก

พื้นที่นำเสนอประกอบด้วย 2 พื้นที่ คือ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และ แหล่งวัฒนธรรมสีมา โดยขณะนี้ (ร่าง) ข้อมติเสนอให้ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นแหล่งมรดกโลก ประเภทภูมิทัศน์วัฒนธรรม

ทั้งยังเสนอให้เปลี่ยนชื่อแหล่งเป็น “Phu Phrabat, a testimony to the Sima stone tradition of the Dvaravati period” หรือ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี”

ภูพระบาท

รวมทั้งขอให้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ภายหลังจากการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ด้วยคุณค่าความโดดเด่นของการที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมสีมา ในสมัยทวารวดี โดยนับเป็นแหล่งสีมา ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในการทำหน้าที่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และแสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพทางธรณีวิทยา ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมา ในฐานะของการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และพื้นที่ประกอบพิธีกรรม

ทางด้านนางสาวกรพินธุ์ พยัคฆประการณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานการบริหารจัดการมรดกโลก กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม ระบุว่า การนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสงขลาฯ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลกเป็นแนวคิด และดำเนินการขับเคลื่อนโดยมูลนิธิสงขลาสู่มรดกโลก ซึ่งเป็นภาคประชาสังคมในระดับท้องถิ่น ที่ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม และทางธรรมชาติ ที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่น และต้องการยกระดับความภาคภูมิใจในคุณค่า และความสำคัญของแหล่งในท้องถิ่นของตนให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล

ภูพระบาท

ในส่วนของการขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทนั้น หากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกจะเป็นแหล่งมรดกโลกแหล่งที่ 8 ของไทย และจะทำให้อุดรธานีเป็นจังหวัดแรก ที่มีแหล่งมรดกโลกจำนวน 2 แหล่งในพื้นที่ ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกประเภทต่าง ๆ นั้น นอกจากเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศในเวทีนานาชาติ และก่อให้เกิดความภาคภูมิใจให้กับประชาชนในพื้นที่ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น การก่อให้เกิดรายได้ และการสร้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อม

อันเนื่องมาจากการท่องเที่ยว การส่งเสริมการอนุรักษ์ และปกป้องคุ้มครองอัตลักษณ์ และทรัพยากรของท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งมรดกโลก และการยกระดับการวิจัยในด้านต่าง ๆ ร่วมกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ในการปกป้อง คุ้มครองอนุรักษ์ และบริหารจัดการแหล่งมรดกโลก

messageImage 1719998262742

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo