General

กทม. ลุยอัปเกรดป้ายรถเมล์ อีก 500 จุด เชื่อมข้อมูล ‘กทม.-สนข.-ไทย สมาย บัส’

กทม. วางแผนอัปเกรดป้ายรถเมล์อีก 500 จุด ศาลาที่พักอีก 200 จุด ล่าสุดจับมือ สนข.-ไทย สมาย บัส เชื่อมโยงข้อมูลบนป้ายรถเมล์ หวังดึงประชาชนใช้รถสาธารณะมากขึ้น

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม และนางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานกรรมการ บริษัท ไทย สมาย บัส จำกัด (TSB) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลการเดินทางรถสาธารณะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ป้ายรถเมล์

ทั้งนี้ เพื่อแบ่งปัน แลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และส่งเสริมให้เกิดการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้น

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการแชร์ข้อมูลการเดินรถสาธารณะ ของทั้งไทย สมาย บัส ผู้ให้บริการรถเมล์รายใหญ่ ซึ่งมีแอปพลิเคชัน TSB Go Plus และ สนข. ซึ่งมีแอปพลิเคชัน นำทาง ที่รวมข้อมูลการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะที่หลากหลาย เพื่อให้ข้อมูลของรถเมล์ในพื้นที่กรุงเทพฯ สมบูรณ์มากขึ้น

ด้าน ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวเสริมว่า แอปพลิเคชัน นำทาง ที่ทาง สนข. ทำ ได้รวบรวมข้อมูลการเดินทางไว้ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า เรือ จากนี้ข้อมูลที่เราทำไว้จะถูกส่งต่อเพื่อนำไปขึ้นจอดิจิทัล Smart Bus Stop ที่อยู่ในความดูแลของ กทม. ด้วย

กทม

นางสาวกุลพรภัสร์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันรถเมล์ของไทย สมาย บัส มี 123 เส้นทาง ซึ่งยังไม่ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล การที่ กทม. เป็นผู้นำในการผสานความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้โดยสาร เพราะระหว่างรอรถมาสามารถเห็นจากจอได้ว่ารถเมล์สายไหนจะมาภายในกี่นาที ซึ่งจะทำให้สามารถวางแผนการเดินทางได้ และคาดว่าจะดึงประชาชนให้หันมาใช้รถสาธารณะได้มากขึ้น

นายวิศณุ กล่าวเสริมว่า สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ได้ติดตั้งศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 2,098 หลัง และติดตั้งป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางทั้งสิ้น 5,000 ป้าย พร้อมได้นำร่องนำเทคโนโลยีจอแสดงข้อมูลระยะเวลาและสายรถโดยสารประจำทางติดตั้งในศาลาที่พักผู้โดยสารอัจฉริยะ หรือ Smart Bus Shelter ซึ่งในระยะเริ่มแรกดำเนินการไปแล้วจำนวน 350 หลัง ได้ผลตอบรับจากผู้ใช้บริการเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ จากผลการสำรวจการใช้บริการรถประจำทางของประชาชน ปัญหาหลักที่พบเป็นเรื่องของเวลา คือไม่มีข้อมูลแจ้งเกี่ยวกับระยะเวลาการมาถึงของรถ จนเกิดความล่าช้าในการเดินทางและไม่สามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

500 จุด

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจอแสดงข้อมูลประจำป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางยังมีจำนวนไม่ครอบคลุมและมีข้อจำกัดด้านข้อมูลที่เกี่ยวข้องของรถประจำทาง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือในการพัฒนาและเชื่อมโยงข้อมูลรถโดยสารประจำทางจากหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

ขณะเดียวกัน ในอนาคต กทม. จะนำระบบข้อมูลจากความร่วมมือในครั้งนี้ ดำเนินโครงการติดตั้งป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางที่มีจอแสดงข้อมูลระยะเวลาและสายรถโดยสารประจำทางอีกจำนวน 500 จุด และติดตั้งจอแสดงข้อมูลในศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางอีกจำนวน 200 จุด

เชื่อว่าหากระบบขนส่งสาธารณะถูกพัฒนาให้ง่าย สะดวก และปลอดภัย จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์และเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะมากยิ่งขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo