Stock - Finance

ย้อนไทม์ไลน์หุ้น EA จากซูเปอร์สต็อก 100 บาท สู่ราคาหลัก 10

ย้อนไทม์ไลน์ ความยิ่งใหญ่หุ้น EA ทำไม จากซูเปอร์สต็อก 100 บาท สู่ราคาหลัก 10

ว่ากันด้วยชื่อหุ้นที่ฮอตอิตที่สุดในเวลานี้ ไม่เขียนถึงคงจะไม่ได้ นั่นก็คือ EA หรือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้นำกลุ่มธุรกิจไบโอดีเซล โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ระบบกักเก็บพลังงาน และธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า

เมื่อปี 2565 ราคาหุ้น EA เคยขึ้นไปเกือบ 100 บาท มูลค่า Market Cap. กว่า 360,000 ล้านบาท ทว่านับตั้งแต่ต้นปีต้นปี 2566 ราคาหุ้นก็วิ่งเป็นขาลงอย่างหนัก กระทั่งล่าสุด (28 มิ.ย.67) อยู่ที่ 11.20 บาท หายไปเกือบ 90% จากจุดสูงสุด จนหลายคนกังวลว่ามีโอกาสที่ราคาหุ้นจะกลับสู่จุดเริ่มต้นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว

หุ้น EA

ย้อนความยิ่งใหญ่หุ้น EA

EA เป็นหุ้นใน SET50 ที่เคยถูกขนานว่าเป็น Growth Stock เมืองไทย ด้วยโมเดลธุรกิจที่สร้าง New S-Curve ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดเอ็ม เอ ไอ (mai) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556 ที่ราคาเสนอขาย 5.50 บาท และเปิดเทรดวันแรกที่ 5.95 บาท สูงจาก IPO 8.18%

ด้วยการเป็นหุ้นพลังงานทดแทนที่น่าสนใจ โดยตอนนั้นมีธุรกิจหลักคือการผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล และมีสตอรี่ของการขยายไปสู่กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมที่กำลังมีสัดส่วนกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

EA มีแผนระยะยาวที่จะรุกเข้าสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ชัดเจน ประกอบกับช่วงนั้นเป็นจังหวะของการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย ซึ่งมีนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบมาตรการ Adder และ Feed-In Tariff ที่เป็นมาตรการส่งเสริมให้ผู้ผลิตได้รับกำไรจากการขายไฟที่สูงขึ้น ทำให้บริษัทเติบโตก้าวกระโดดจน Market Cap. ทะลุ 100,000 ล้านบาท และช่วงต้นปี 2560 ก็ได้ย้ายจากการจดทะเบียนในตลาด mai ขึ้นไปอยู่บน SET ได้สำเร็จ

หลังจากนั้น EA ได้รุกเข้าสู่ธุรกิจพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ และสร้างความฮือฮาอีกครั้งกับการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าเป็นของตัวเอง ฝีมือคนไทย 100% ภายใต้แบรนด์ Mine Mobility รวมถึงการลงทุนพัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้า ถึงขนาดว่าช่วงหนึ่งสำนักข่าว Bloomberg ยกให้ EA เป็น TESLA of Thailand เลยทีเดียว

หุ้น EA

สาเหตุการดิ่งเหวหุ้น EA

จะเห็นว่าปัจจัยที่ทำให้หุ้น EA เสียศูนย์ นั้นมาจากหลากหลายประเด็นที่ผสมปนเปกัน จนนักลงทุนหมดความเชื่อมั่น ไล่มาตั้งแต่เรื่องราวส่วนตัวของผู้บริหารเกี่ยวกับการฟ้องร้อง, การซื้อที่ดินบลูเทคซิตี้ จังหวัดฉะเชิงเทรา, ข้อกล่าวหากรณีโครงการโรงไฟฟ้าจังหวัดนครสวรรค์ และโครงการโรงไฟฟ้าที่จังหวัดลำปาง และปัญหาของหุ้น BYD (บริษัทลูกของ EA) ที่ขอเลื่อนการส่งงานการตรวจสอบให้ ก.ล.ต.

หุ้น EA

และหากพูดถึงด้านพื้นฐานธุรกิจล้วนๆ EA ก็เจอความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ได้เติบโตอย่างที่คาดการณ์เอาไว้ พร้อมกับเจอคู่แข่งจากจีนเข้ามาแข่งขันด้านราคา อีกทั้งในฝั่งธุรกิจโรงไฟฟ้าก็เจอแรงกดดันจากมาตราการ Adder ที่กำลังจะหมดลงเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ ประเด็นที่ตลาดพูดถึงกันมาก คือเรื่องของการบังคับขาย (Force Sell) หุ้นที่ถูกถือโดยผู้ถือหุ้นรายใหญ่บางราย

โดยทาง EA ได้ชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าตามที่ราคาซื้อ-ขายหุ้นของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ลดลงเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา บริษัทขอเรียนชี้แจงว่าบริษัทไม่มีพัฒนาการที่สำคัญทางธุรกิจในระยะเวลาอันใกล้ที่มีผลต่อราคาหลักทรัพย์แต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงเกิดจากปัจจัยภายนอกและสภาวการณ์อื่น  ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัท หากบริษัทมีพัฒนาการที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจที่สำคัญใดๆ บริษัทจะแจ้งให้นักลงทุนทราบและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน