Finance

บอร์ดสปสช. เคาะเพิ่มงบเหมาจ่ายผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง จาก 6,000 บาท เป็น 10,442 บาทต่อคนต่อปี

บอร์ดสปสช. เคาะเพิ่มงบเหมาจ่ายผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง จาก 6,000 บาท เป็น 10,442 บาทต่อคนต่อปี พร้อมขยายอีก 2 กลุ่มเป้าหมาย หนุนอปท. ร่วมดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ของตนเอง

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาล เมื่อปี 2559 ที่มุ่งให้การดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นการรองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยจัดสรรงบประมาณและมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานดำเนินการให้ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท)

โดยได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผ่านกลไก “ระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่” (Long Term Care : LTC )

งบเหมาจ่ายผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง

ขยายอีก 2 กลุ่มเป้าหมาย

ทั้งนี้ ผู้ที่ภาวะพึ่งพิงที่ได้รับการดูแลภายใต้ระบบนี้ กำหนดเป็นบุคคลที่มีคะแนนประเมินความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันตามดัชนีบาร์เธลเอดีแล (Barthel ADL index) เท่ากับหรือน้อยกว่า 11 ซึ่งจะได้รับการดูแลจากทีมหมอครอบครัวและผู้ช่วยเหลือดูแล (Care giver) รวมถึงการได้รับอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์เครื่องช่วยที่จำเป็น ตามแผนการดูแลรายบุคคล (Care Plan)

โดย สปสช. จะสนับสนุนงบประมาณเหมาจ่ายไปยัง “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” ในอัตราเหมาจ่ายจำนวน 6,000 บาทต่อคนต่อปี เพื่อให้ อปท. ที่เป็นผู้บริหารจัดการกองทุนฯ และนำไปจ่ายให้กับหน่วยบริการ สถานบริการ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ที่ทำหน้าที่ในการดูแลผู้มีภาวะพึงพิง

ปัจจุบันจะมีผู้มีภาวะพึ่งได้รับการดูแลอยู่ที่จำนวน 320,000 คนต่อปี แต่ที่ผ่านมาพบว่ายังมีผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงกลุ่มอื่นๆ ในชุมชนเพิ่มเติมอีก เช่น กลุ่มที่มีภาวะสมองเสื่อม กลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative Care) เป็นต้น ซึ่งมีความจำเป็นหรือความต้องการที่ต้องได้รับการดูแลเหมือนกับกลุ่มที่มี ADL เท่ากับหรือต่ำกว่า 11

งบเหมาจ่ายผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง

เคาะเพิ่มงบเหมาจ่ายผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง

ดังนั้นเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้มีภาวะพึ่งพิงให้ได้รับบริการที่บ้านหรือในชุมชนเพิ่มขึ้น คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)  ในการประชุม ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 จึงมีมติเห็นชอบให้ขยายกลุ่มเป้าหมาย โดยให้ครอบคลุมกลุ่มที่มีภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่ระยะปานกลาง และกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วย โดยคาดการณ์ว่าจะทำให้มีผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงที่ได้รับการดูแลในระบบเพิ่มรวมเป็นจำนวนประมาณ 6 แสนคน

ในคราวเดียวกันนี้ บอร์ด สปสช. ได้อนุมัติเพิ่มงบประมาณค่าบริการจากเดิมเหมาจ่ายการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ จากจำนวน 6,000 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มเติมเป็นจำนวน 10,442 บาทต่อคนต่อปี (เพิ่มขึ้น 4,442 บาทต่อคนต่อปี)

ซึ่งจะทำให้ อปท. มีงบประมาณสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นสำหรับงบเหมาจ่ายผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ ทำให้หน่วยบริการสามารถจัดบริการได้ดีขึ้น รวมถึงจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นให้กับผู้ป่วย ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดแรงจูงใจหน่วยบริการที่มีศักยภาพ เช่น สถานชีวาภิบาลที่อยู่กระจายในชุมชนเข้าร่วมให้การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงในระบบ

งบเหมาจ่ายผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง

หนุนท้องถิ่นมีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วยที่ภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ของตนเอง

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนการดำเนินการตามมติบอร์ด สปสช. ข้างต้นนี้ สปสช. จะมีการปรับประกาศหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับมติดังกล่าว ซึ่งบางส่วนก็ได้เสนอบอร์ดไปในคราวเดียวกันแล้ว พร้อมกับปรับหลักเกณฑ์แนวทางการจ่ายที่จะเริ่มได้ในปีงบประมาณ 2567 เนื่องจากได้มีการขออนุมัติงบประมาณรองรับไว้แล้ว

นอกจากนี้ สปสช. จะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการจัดทำแนวทาง มาตรฐานการจัดบริการประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับทั้งกับประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยจัดบริการต่อไป

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การที่ สปสช. มีการสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการการดูแลผู้ป่วยที่ภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ของตนเอง จะทำให้เกิดการบูรณาการการดูแลผู้ป่วยทั้งด้าน Health Care และ Social Care ได้มากขึ้น เช่น ผู้ป่วยบางคนอาจมีความต้องการที่จะได้รับการช่วยเหลือทางด้านที่พักอาศัย หรือการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ทางท้องถิ่นก็อาจจะจัดหางบประมาณในส่วนนี้มาสนับสนุนได้อีก

รวมทั้งในปัจจุบันการดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงมีหน่วยงาน องค์กร ที่ทำหน้าที่อยู่หลายหน่วยงาน แต่เมื่อลงไปดำเนินการจริงในพื้นที่แล้ว ท้องถิ่นก็จะได้รับทราบข้อมูล เป็นศูนย์กลางในการประสาน ลดความซ้ำซ้อนในการดูแลและงบประมาณได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo