Finance

‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ ลั่นหากไม่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ GDP ไทยหมดลุ้นโต 4-5%

“ผู้ว่าแบงก์ชาติ” ลั่นหากไม่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ GDP ไทยหมดลุ้นโตพุ่ง 4-5% เหมือนอดีต ชี้กระตุ้นให้ตายก็ได้แค่ 3% ย้ำดอกเบี้ยเหมาะสมแล้ว

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงถึงประเด็นการเข้าใจผิดทั้งด้านเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ในงาน Meet the press ผู้ว่าการ ธปท. พบสื่อมวลชน โดยกล่าวว่า แบบจำลองของแบงก์ชาติ มองภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2566-2571 คาดว่า จะเติบโตได้แค่ราว 3% ซึ่งเป็นระดับศักยภาพของไทยในปัจจุบันที่ลดลงจากในอดีต และยากที่จะกลับไปเติบโตได้สูงถึง 4-5% อย่างเช่นในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้า เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

แบงก์ชาติ

เมื่อมองในภาพรวม เศรษฐกิจไทยแม้จะยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง และเริ่มทยอยกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ แต่เป็นการฟื้นตัวในภาพรวม และยังซ่อนความยากลำบากของประชาชนอยู่อีกไม่น้อยที่เดือดร้อนจากรายได้ที่ยังฟื้นกลับมาไม่เต็มที่ ทั้งลูกจ้างนอกภาคเกษตร, ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แม้รายได้อาจจะกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด แต่ยังมี “หลุมรายได้” ที่เกิดจากรายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นไปตามกาลเวลา แต่กลับมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าครองชีพสูงขึ้น

ทั้งนี้ แบงก์ชาติ ประเมินภาพเศรษฐกิจไทยรายไตรมาส ในช่วงที่เหลือของปี 2567 ไว้ดังนี้ ไตรมาส 2 คาดเติบโตใกล้เคียง 2% , ไตรมาส 3 คาดเติบโตใกล้เคียง 3% และไตรมาส 4 คาดเติบโตใกล้เคียง 4% ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ขยายตัวได้ 1.5% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตได้ดีกว่าที่คาดไว้ ส่วนในปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ราว 3%

แบงก์ชาติ

“การจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากกว่านี้ จะต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างแรงงานให้มีประสิทธิภาพ มีการลงทุนมากขึ้น มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทันสมัย ซึ่งคงไม่ใช่เพียงแค่การใช้มาตรการกระตุ้นแต่เพียงเท่านั้น เพราะหากกระตุ้นให้ตาย แต่เทคโนโลยีได้แค่นี้ ศักยภาพการฟื้นตัว ก็ได้แค่ 3%” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

อัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้ นายเศรษฐพุฒิ ยืนยันว่า เหมาะสมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพการเงิน แต่ก็ไม่ได้ปิดประตูการปรับลดดอกเบี้ย หาก Outlook มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ การขยายตัวของเศรษฐกิจ พร้อมมองว่าการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ไม่ใช่การใช้เครื่องมืออัตราดอกเบี้ยเพียงเครื่องมือเดียว แต่ต้องมีเครื่องมืออื่นเข้ามาช่วยเสริมด้วย เช่น มาตรการการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน

ที่มา : สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo