World News

‘ฟอร์จูน’ ยก ‘ปตท.’ ยักษ์เบอร์ 2 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ‘บ้านปู’ ครองซีอีโออายุน้อยสุด

ฟอร์จูน ยกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เติบโตเร็วสุดในโลก จัดอันดับครั้งแรก “Southeast Asia 500” มี 6 บริษัทไทยติดโผ 20 บริษัทใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย “ปตท.” ติดอันดับ 2 ขณะซีอีโอ “บ้านปู” ยังครองตำแหน่งผู้บริหารอายุน้อยสุด

นิตยสารฟอร์จูน เปิดเผยการจัดอันดับ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 500” (Southeast Asia 500) ปี 2567 เป็นครั้งแรก โดยมีรายชื่อของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ถูกจัดอันดับตามรายได้สำหรับปีงบประมาณ 2566 โดยฟอร์จูนได้มุ่งเน้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน และการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจในภูมิภาค

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การจัดอันดับครั้งแรกนี้ประกอบไปด้วยบริษัทจาก 7 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา โดยอินโดนีเซียครองอันดับ 1 ด้วยรายชื่อบริษัทติดอันดับสูงสุดถึง 110 บริษัท โดยมีไทยตามมาเป็นอันดับ 2 จำนวน 107 บริษัท มาเลเซีย 89 บริษัท แซงหน้าสิงคโปร์ที่มี 84 บริษัท ส่วนเวียดนามติดอันดับ 70 บริษัท ฟิลิปปินส์ 38 บริษัท และกัมพูชา 2 บริษัท

ในด้านรายได้ บริษัทค้าสินค้าโภคภัณฑ์ “ทราฟิกูรา ของสิงคโปร์ครองอันดับที่ 1 ด้วยยอดขาย 244,000 ล้านดอลลาร์ จากการจำหน่ายแร่ธาตุ โลหะ และพลังงาน โดยมีจำนวนพนักงานน้อยที่สุดในบรรดาบริษัทชั้นนำ 10 อันดับแรก เมื่อพิจารณาตามรายได้ และเป็นบริษัทที่ทำกำไรได้มากเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มนี้

บริษัท 10 อันดับแรกใน Southeast Asia 500 เป็นกลุ่มบริษัทที่มีความหลากหลาย โดยภาคพลังงานมีบริษัทที่ติดอันดับสูงสุดจำนวน 3 บริษัทด้วยกัน ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ของไทย อยู่ในอันดับที่ 2 เปอตามินา ของอินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 3 และบริษัทไฟฟ้าภาครัฐของอินโดนีเซีย เปรูซาฮาน ลิสตริก เนการา อยู่ในอันดับที่ 6

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ สิงคโปร์มีจำนวนบริษัทที่ติดอันดับมากที่สุดใน 10 อันดับแรก โดยมี ทราฟิกูรา อยู่อันดับแรก ตามมาด้วย วิลมาร์ ที่อันดับ 4 โอแลม อันดับ 5 เฟล็กซ์ อันดับ 8 และดีบีเอส อันดับ 10 นอกจากนี้ ใน 10 อันดับแรกยังมี บมจ.ซีพีออลล์ ของไทยอยู่ที่อันดับ 7 และ ซาน มิเกล ของฟิลิปปินส์ที่อันดับ 9

อีก 3 บริษัทจากไทยที่ติดอันดับ 20 บริษัททำรายได้สูงสุด ได้แก่ อินโดรามา เวนเจอร์ส อันดับ 14 ปูนซิเมนต์ไทย อันดับ 16 และ ซีพี แอ็กซ์ตร้า อันดับ 19

ฟอร์จูน รายงานด้วยว่า บริษัทขนาดใหญ่สุด 10 อันดับแรก มีรายได้โดยรวมถึง 650,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของรายได้รวมในงบประมาณปี 2566 จากบริษัททั้งหมดใน Southeast Asia 500 ซึ่งมีรายได้ทั้งสิ้น 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำในการมีรายชื่ออยู่ใน Southeast Asia 500 คือ 460.8 ล้านดอลลาร์

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้วยรายได้รวมอยู่ที่ 2.42 แสนล้านดอลลาร์ การธนาคารจึงเป็นภาคธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สำคัญ ธนาคาร 9 แห่งติดหนึ่งใน 20 บริษัทที่ทำกำไรได้มากที่สุด นำโดย ดีบีเอส ของสิงคโปร์ทั้งในด้านรายรับ และผลกำไร

ทั้งนี้ ภาพรวมของ Southeast Asia 500 ในปีที่ผ่านมามีรายได้ และผลกำไรที่ลดลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้รับผลกระทบจากธุรกิจภาคพลังงานที่ถดถอยลง จึงได้บดบังการเติบโตที่น่าประทับใจในหลายอุตสาหกรรม บริษัทที่มีการเติบโตอย่างน่าประทับใจ ได้แก่ สายการบิน เช่น การบินไทย บริษัทเหมืองแร่ในอินโดนีเซีย เช่น ฮาริตา นิคเกิล และเมอร์เดกา แบตเตอรี แมทีเรียลส์ รวมถึงบริษัทประกันภัย และธนาคารอีกมากมาย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo