World News

ผลศึกษาชี้ ‘มลพิษทางอากาศ’ สาเหตุ ‘เด็กเสียชีวิต’ วันละเกือบ 2,000 คน

ผลศึกษาล่าสุด ชี้ แต่ละวัน ทั่วโลกมีเด็กเล็กเกือบ 2,000 คนเสียชีวิต เพราะปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับ “มลพิษทางอากาศ” ปัจจัยเสี่ยงใหญ่อันดับ 2 ของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้คนทั่วโลกในขณะนี้

วีโอเอ รายงานว่า สถาบันผลกระทบทางสุขภาพ (Health Effect Institute) ของสหรัฐ ได้เปิดเผยผลศึกษาล่าสุด “State of Global Air report” หรือ “สถานะอากาศโลก” ที่แสดงให้เห็นว่า การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 8.1 ล้านคน หรือราว 12% ของการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกในปี 2564

มลพิษทางอากาศ

นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศ ยังแซงหน้าการสูบบุหรี่ และการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ขึ้นมาเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ตามหลังแค่ภาวะความดันโลหิตสูง ที่ยังเป็นแชมป์ปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกอยู่ในตอนนี้

รายงานที่ทางสถาบัน ร่วมมือกับกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ยังแสดงให้เห็นว่า เด็กเล็กเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงอย่างมาก โดย อากาศเป็นพิษเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มากกว่า 700,000 คน ซึ่งมากกว่า 500,000 คนในจำนวนนี้ มีสาเหตุการเสียชีวิตจากการทำอาหารภายในบ้าน ด้วยการใช้เชื้อเพลิงที่ไม่สะอาด เช่น ถ่านหิน และไม้ ส่วนใหญ่พบในแอฟริกา และเอเชีย

คิตตี แวน เดอร์ ไฮจ์เดน เจ้าหน้าที่ยูนิเซฟ ระบุว่า ในทุก ๆ วัน มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เกือบ 2,000 คนต้องเสียชีวิต เพราะผลกระทบด้านสุขภาพ ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ซึ่งการที่ไม่ลงมือทำอะไรเลยในเรื่องนี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งกับคนรุ่นต่อไปแล้ว

รายงาน ชี้ว่า เกือบทุกคนบนโลกสูดอากาศที่มีระดับมลพิษเข้าขั้นไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพเกือบทุกวัน โดยกว่า 90% ของการเสียชีวิตเกี่ยวข้องกับ อากาศเป็นพิษ อย่างฝุ่นละอองขนาดเล็กจิ๋ว PM2.5 ซึ่งเป็นสาเหตุที่เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ มากมาย

มลพิษทางอากาศ

แม้ในรายงานนี้ ที่มุ่งเน้นเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ กับระดับมลพิษทางอากาศ จะมีตัวเลขที่น่าตกใจออกมา แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า อาจจะประเมินผลกระทบของมลพิษทางอากาศไว้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากไม่ได้พิจารณาว่า อากาศเป็นพิษอาจกระทบต่อสุขภาพสมอง และความเสื่อมของระบบประสาท หรือผลกระทบของการใช้พลังงานแข็งในการทำความร้อนว่า ส่งผลต่อสุขภาพมนุษย์มากน้อยแค่ไหน

ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาเบื้องต้น คือ การจัดการเรื่องการทำอาหารในพื้นที่อาคารปิด ที่ควรเลี่ยงการใช้เชื้อเพลิงที่ก่อก๊าซเรือนกระจก หรือมีการเผาไหม้ที่ไม่สะอาดในการปรุงอาหาร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo