World News

‘ยูเอ็น’ ชี้ ‘ธนาคารไทย’ เบอร์ 1 ให้บริการการเงิน ‘กองทัพเมียนมา’ แทนที่สิงคโปร์

รายงานยูเอ็น ระบุ ปี 2566 “ธนาคารไทย” กลายมาเป็นผู้ให้บริการทางการเงินหลัก และเชื่อมต่อกับแหล่งเงินทุนจากนานาชาติให้กับ “รัฐบาลทหารเมียนมา” หลังรัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินการปิดบัญชีทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมาไปแล้ว 

วีโอเอ รายงานว่า สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้เผยแพร่รายงานที่มีชื่อว่า “Banking on the Death Trade: How Banks and Governments Enable the military Junta in Myanmar” เมื่อวานนี้ (26 มิ.ย.) ตรวจสอบบทบาทของ 2 ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในด้านการจัดหาอาวุธ และเสบียง ให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา

ธนาคารไทย

รวมถึงสรุปสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา และวิธีการที่รัฐบาลทหารใช้ในการจัดซื้อจัดหาอาวุธแทนที่แหล่งก่อน ๆ ที่ถูกปิดกั้นภายใต้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจโดยสหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และนานาประเทศ

รายงานระบุว่า หลายบริษัทในไทยรับหน้าที่ให้บริการด้านการเงิน และการจัดหาอาวุธ แทนที่ธุรกิจในสิงคโปร์ที่เคยค้าขายกับสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ซึ่งเป็นชื่อทางการของรัฐบาลทหารเมียนมา โดยสภาบริหารแห่งรัฐยังคงเดินหน้าทำงานร่วมกับเครือข่ายวงกว้างของภาคการธนาคารระหว่างประเทศ เพื่อรักษาไว้ซึ่งเสบียงอาวุธของตนและทำให้ตนยังคงยืนหยัดปกครองประเทศต่อไป

นายโธมัส แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษยูเอ็น ด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา กล่าวว่า ในปี 2566 บริษัทที่จดทะเบียนในไทย ดำเนินการจัดส่งอาวุธ และวัสดุต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกันเป็นมูลค่ากว่า 120 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 4,400 ล้านบาท ไปให้รัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าจากปี 2565 โดยสิ่งที่จัดส่งผ่านไทยไปในปีที่แล้ว มีชิ้นส่วนของเฮลิคอปเตอร์โจมตี Mi-17 และ Mi-35 ที่กองทัพเมียนมาเคยซื้อจากสิงคโปร์อยู่ด้วย

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย ของญี่ปุ่น รายงานว่า รัฐบาลหลายประเทศ และธนาคารหลายแห่งได้ตอบรับการขอข้อมูลจากผู้รายงานพิเศษของยูเอ็น และให้คำอธิบายเพิ่ม เพื่อใช้ประกอบรายงานชิ้นนี้ ยกเว้น ธนาคารไทยพาณิชย์ และรัฐบาลของไทยที่ไม่ตอบรับคำร้องขอดังกล่าว

การตรวจสอบพบว่า ธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 4 ของไทย รับผิดชอบถึงราว 80% ของธุรกรรมที่เกี่ยวกับกองทัพเมียนมา โดยตัวเลขการโอนเงินผ่านธนาคารแห่งนี้พุ่งขึ้นจาก 5 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 185 ล้านบาท ในปี 2565 มาเป็นถึงกว่า 100 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 3,700 ล้านบาท ในปี  2566

ธนาคารไทย

ส่วนธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ ยืนยันกับผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นว่า ได้ยุติความสัมพันธ์ด้านบริการทางธนาคารกับ Myanmar Foreign Trade Bank ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐบาล หลังสถาบันการเงินเมียนมานี้ถูกรัฐบาลสหรัฐลงโทษเมื่อปี 2566 โดยปริมาณธุรกรรมการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพเมียนมาผ่านธนาคารแห่งนี้ ลดลงจากระดับ 35 ล้านดอลลาร์ (เกือบ 1,300 ล้านบาท) ในปี 2565 มาเหลือเพียง 5 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 ด้วย

รายงานของยูเอ็นนี้ให้ความเห็นว่า “ถ้ารัฐบาลของไทยจะดำเนินการที่ตอบรับข้อมูลที่ว่านี้ ดังเช่นที่รัฐบาลของสิงคโปร์ทำไปเมื่อปีก่อน ความสามารถของ SAC ในการโจมตีประชาชนชาวเมียนมาก็จะลดความรุนแรงไปอย่างมีนัยสำคัญ”

ในรายงานฉบับนี้ นายแอนดรูวส์ยังร้องขอให้ธนาคารทั้งหลายตรวจสอบธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธนาคารของเมียนมา โดยกล่าวว่า แรงกดดันจากภาคการเงินระหว่างประเทศคือ หนึ่งในไม่กี่อย่างที่จะช่วยหยุดความรุนแรงที่ขยายวงเพิ่มขึ้นในประเทศนี้ได้

“การที่รัฐบาลทหารเมียนมาสามารถพึ่งพาสถาบันการเงิน ที่ยินดีที่จะทำธุรกิจร่วมกับธนาคารที่รัฐบาลเมียนมาเป็นเจ้าของและกองทัพควบคุมอยู่ ทำให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ต้องการ เพื่อนำไปใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ รวมถึง การโจมตีทางอากาศเข้าใส่พลเรือนด้วย”

“ธนาคารระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ให้ความสะดวก ดูแลธุรกรรมเหล่านี้ ที่เกี่ยวข้องกับธนาคารของรัฐบาลเมียนมากำลังมีความเสี่ยงสูง ในการสนับสนุนให้กองทัพโจมตีเข้าใส่พลเรือนเมียนมา ผมร้องขอให้หยุดทำการเช่นนั้นเสีย ธนาคารมีภาระผูกพันที่จะไม่อำนวยความสะดวกต่อการก่ออาชญากรรม และนั่นรวมความถึงอาชญกรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”

ผู้รายงานพิเศษยูเอ็น ยังให้ความเห็นเปรียบเทียบสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในสิงคโปร์ และไทย โดยระบุว่า ในกรณีของสิงคโปร์แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลที่มีความมุ่งมั่นทางการเมืองเพียงพอ สามารถทำให้เกิดความแตกต่างอันมีนัยสำคัญ ต่อการเป็นผู้ค้าความตายของเมียนมา โดยไทยมีโอกาสที่จะทำตามตัวอย่างอันทรงพลังนี้ ด้วยการดำเนินการต่าง ๆ ที่จะจัดการกับความสามารถของรัฐบาลทหาร ในการเดินหน้ายกระดับการโจมตีเป้าหมายพลเรือน และขอให้ทำเช่นนั้นด้วย

ธนาคารไทย

รายงานล่าสุดของยูเอ็นนี้มีออกมา ขณะที่ รัฐบาลไทยเดินหน้ายื่นขอร่วมเป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติ ที่จะมีการคัดเลือกในเดือนตุลาคม โดยนิกเคอิ เอเชีย ชี้ว่า รัฐบาลไทยต่างจากรัฐบาลสิงคโปร์ตรงที่ไม่มีจุดยืนในที่สาธารณะอันชัดเจนว่า คัดค้านการจัดส่งอาวุธให้รัฐบาลทหารเมียนมา

ทั้งนี้ นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนางอองซาน ซูจี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ไทยกลายมาเป็นจุดหมายของผู้ลี้ภัยชาวเมียนมานับแสนคน

ขณะที่ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเมียนมา The Assistance Association for Political Prisoners รายงานว่า พลเรือนชาวเมียนมากว่า 5,300 คนถูกสังหารด้วยน้ำมือของกองทัพในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนกลุ่มสังเกตการณ์อื่น ๆ ประเมินว่า ตัวเลขนี้น่าจะสูงถึงกว่า 50,000 คน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo